กทม. 25 ก.พ. – สัญญาประวัติศาสตร์พีเอสซี “บงกช-เอราวัณ” 1 ล้านล้านบาท ลงนามแล้ว รัฐเตรียมเปิดฉบับ 2 เดือน มิ.ย.นี้
วันนี้สัญญาลงทุน 1 ล้านล้านบาทได้มีการลงนามไปแล้ว คือ สัญญาบงกชและเอราวัณ และอีก 1 โครงการลงทุนสำคัญ ก็คือ ผลิตน้ำมันยูโร 5 กว่า 30,000 ล้านบาท บีโอไอกำหนดกรอบสนับสนุนต้องยื่นภายในปีนี้
นี่คือ การลงนามครั้งสำคัญของประเทศเป็นสัญญาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซี ฉบับแรกของประเทศ หลังจากไทยเปิดสัมปทานมานาน 40 ปี และที่ผ่านมากว่าจะมาเป็นพีเอสซีฉบับนี้ต้องผ่านปัญหาการคัดค้านการชี้แจงมาหลายรอบ จนมาถึงวันนี้ ก็เป็นการร่วมลงนามสัญญาแปลงในอ่าวไทย ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทั้งหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับกลุ่ม PTTEP ถือสัดส่วน 60% และกลุ่มมูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ถือสัดส่วน 40% และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย หมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับกลุ่ม PTTEP ที่ถือสัดส่วน 100% หลังจากกลุ่ม PTTEP
โดย กระทรวงพลังงานระบุ ภายใต้ระบบ PSC ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศ 6.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565-2574) แบ่งเป็นการลดราคาก๊าซฯ 5.5 แสนล้านบาท การจัดเก็บภาษีฯ ค่าสัมปมทานและอื่นๆ อีก 1 แสนล้านบาท เพราะผู้ชนะประมูลเสนอส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติลงมาโดยราคาคงที่อยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูตลอด 10 ปี ประโยชน์ดังกล่าวจะถูกส่งผ่านในรูปของการลดค่าไฟฟ้าลงมา 15-20 สตางค์ต่อหน่วยจากเดิมราคา 3.6 บาทต่อหน่วยจะเหลือ 3.4 บาทต่อหน่วย, ลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ 0.50-1.0 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)รวมเป็นมูลค่าแสนล้านบาทประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพราะมีวัตถุดิบผลิตต่อเนื่องราคาลดลงมูลค่า 1 แสนล้านบาท, เพิ่มความมั่นคงด้านก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ทำให้มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 บาท/กก.คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงฯ เตรียมพร้อมเพื่อเปิดเชิญชวนให้เอกชนยื่นประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่สำหรับแปลงสำรวจในพื้นที่อ่าวไทยด้วยระบบพีเอสซี ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะใช้แบบเดียวกับที่เปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 25% เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า จะติดตามใกล้ชิดเพื่อให้การผลิตช่วงรอยต่อที่จะสิ้นสุดสัญญากับรายเก่าไม่กระทบ จากสัญญาเดิมสิ้นสุดปี 2565-2566 ขณะเดียวกันต้องให้รายใหม่เข้าไปดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสัญญาเพื่อให้การผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามกำหนดซึ่งทางผู้ชนะประมูลหลังจากนี้ 45 วัน จะต้องส่งแผนการดำเนินงาน ช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดประมูล คือ หมดสัญญาจะต้องผลิตต่อเนื่องและกำหนดขั้นต่ำการผลิตรวมไว้ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแบ่งเป็นเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัยและบงกช 700 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปัจจุบันผลิต 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุน ทั้ง 2 แหล่งคาดว่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดย ปตท.สผ.ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้เงินเพิ่ม เพราะจะใช้จากกระแสเงินสด โดยขณะนี้มีกระแสเงินสดราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ผลการดำเนินการแต่ละปี ซึ่งการตั้งราคาก๊าซฯที่ต่ำก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ก็ไม่กระทบค่อผู้ถือหุ้น เพราะปริมาณก๊าซที่ผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนผลิตลดลงร้อยละ 20-25 ส่งผลให้กำไรทั้ง 2 โครงการไม่ลดลงแต่อย่างใด และที่สำคัญราคาก๊าซแม้คงที่ 116 บาท แต่ราคาขายจริงยังขึ้นกับราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อและอื่นๆ คาดจะขายได้ราว 4-5 ดอลลาร์/ล้านบีทียู และในอนาคต คาดว่าจะเจรจาหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติมทั้งบงกช-เอราวัณ เพื่อให้มีผู้ร่วมทุนราว 3 รายต่อแหล่ง โดยตามข้อกำหนดของกรมเชื้อเพลิงฯ ระบุไว้ว่า จะสามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่หลังเริ่มผลิตไปแล้ว 1 ปี นั่นก็คือราวปี 2566-2567
ด้าน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้โรงกลั่นน้ำมันปรับคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นมาตรฐานยูโร 5 เพื่อลดค่าฝุ่นละอองและมลพิษสิ่งแวดล้อมจากน้ำมันในระยะยาวโดยมาตรการนี้จะช่วยเร่งรัดให้มีการปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานเป็น ยูโร 5 เร็วขึ้นโดยผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ทั้งนี้จะต้องยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 -. สำนักข่าวไทย