หนองคาย 13 ธ.ค. – ครม.อนุมัติ ปตท.สผ.ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอรวัณ เสนอราคาให้รัฐดีสุด คาดลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะประมูล ก.พ.62
นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดหนองคาย ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์นี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจก๊าซในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 หรือแปลงเอราวัณ และบริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์นี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ยังเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญา แบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 หรือแปลงบงกชด้วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บริษัท ปตท.สผ.ดีเวลลอปเม้นท์ ได้รับสัมทานก๊าซแปลงเอราวัณและแปลงบงกช เนื่องจากเสนอเงื่อนไขดีกว่าให้กับรัฐบาล ทั้งแปลงเอราวัณที่เชฟรอนได้สิทธิ์เดิมและแปลงบงกชที่ ปตท.สผ.ได้สิทธิ์อยู่เดิม โดยเสนอแข่งขันกัน 4 ประเด็น คือ แปลงเอราวัณ เสนอราคาก๊าซ 116 บาทต่อล้านบีทียู แบ่งกำไรให้รัฐร้อยละ 68 โดยขอรับส่วนแบ่งร้อยละ 32 เท่านั้น แม้ตามกฎหมายสามารถได้รับส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 50 วนโบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยก็สูงตั้งแต่ปีแรกถึงร้อยละ 91 ส่วนแปลงบงกช เสนอราคาก๊าซ 116 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาเดียวที่เสนอไว้ที่แปลงเอราวัณ โดยขอรับส่วนแบ่งร้อยละ 30 ใช้พนักงานคนไทยตั้งแต่ปีแรกร้อยละ 99
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ราคาขายก๊าซแปลงบงกชปัจจุบันตามสัญญาขาย 214 บาทต่อล้านบีทียู ราคาเสนอประมูลใหม่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ครั้งนี้ต่ำกว่าราคาซื้อขายปัจจุบันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การซื้อก๊าซถูกลงตั้งแต่ปี 2565 ช่วยให้ราคาถูกลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า 550,000 ล้านบาท หรือประหยัดลงทันทีปีละ 55,000 ล้านบาท สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้หน่วยละ 29 สตางค์ ปัจจุบันราคาไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย จะสามารถลดราคาลงได้ 29 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณร้อยละ 8 แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ต้องแบ่งไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเอ็นจีวีด้วย ส่วนลดจึงต้องเฉลี่ยออกไป ค่าไฟฟ้าจริงต่อหน่วยจึงลงได้เพียง 17 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น
นอกจากนี้ จากการที่ ปตท.สผ.เสนอส่วนแบ่งให้รัฐสูงกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้ในช่วง 10 ปีข้างหน้ารัฐจะได้รับส่วนแบ่งรูปแบบค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลผลิตในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีกถึง 100,000 ล้านบาท โดยรวมแล้วประโยชน์ที่ภาครัฐและสังคมได้รับจะสูงถึง 650,000 ล้านบาท ทั้ั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562.-สำนักข่าวไทย