สศช. 21 ก.พ. – รองนายกรัฐมนตรีสั่ง สศช.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดพึ่งพาส่งออก หันมาเน้นเติบโตจากภายในประเทศ ระดมนักเศรษฐศาสตร์คลังสมองปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ หากพบสัญญาณผิดปกติ ตั้งวอร์รูมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายคณะผู้บริหาร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ต่อเนื่องนับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางสังคม สศช. ต้องวางบทบาทของตัวเองให้เป็นหน่วยงานกลางศึกษาแนวทางออกมาให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจุดอ่อนในการพึ่งการส่งออก จำนวนสินค้า ประเภทสินค้า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจในประเทศกับพึ่งพาภาคการส่งออก เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร เพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีรองรับกระแสโลกยุคใหม่ ยอมรับว่าไทยเน้นพึ่งพาการส่งออกสูงมากมีสัดส่วนภาคการส่งออกถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี ขณะที่การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเกิดปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยจึงได้รับผลกระทบไปด้วย
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบาย สศช.เป็นหน่วยงานกลาง ออกแบบแนวคิดให้เป็นรูปธรรม (Think Tank) ด้วยการแยกแต่ละเรื่อง นำออกมาปฏิบัติให้ชัดเจน ทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจ การบริหารงานความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่นให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยให้ สศช.เป็นผู้ศึกษาและจัดทำแผนออกไปสู่การปฏิบัติของส่วนราชการผ่านสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ซึ่งจะเริ่มตั้งขึ้นมาเดือนเมษายน 2562
“สศช. ต้องทำงานเชิงรุกในฐานะหน่วยงานที่มีข้อมูลเฉพาะด้านการค้าการลงทุน หากพบสัญญาณผิดปกติ ให้รีบแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน รีบเข้ามาหารือเพื่อเตรียมรับมือให้ทันท่วงที และเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดความดุล ไม่พึ่งพิงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและเป็นผู้นำพัฒนาศักยภาพในกลุ่ม CLMV” นายทศพร กล่าว
สำหรับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากกำหนดไว้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของไทยไปสู่ระดับโลก ด้วยการส่งเสริม bio economy หรือการแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและวัตกรรม ช่วยเหลือภาคการเกษตร สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้ชาวบ้าน ส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่มกันเป็น Cluster ห่วงโซ่พึ่งพาซึ่งกันและกัน แนวทางที่ 2 การต่อยอดของเดิมที่มีศักยภาพ นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และแนวทางที่ 3 คือ การสร้างธุรกิจใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสนับสนุนโมเดลธุรกิจ Ecommerce และการส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprises หรือ SE มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการเติบโตของธุรกิจ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงเดินหน้าหลายโครงการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาค เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ .- สำนักข่าวไทย