กทม. 7 ก.พ.- เกษตรกรปลื้มโรงอบแสงอาทิตย์สร้างมูลค่าเพิ่มอบแห้ง ฝั่งค่ายรถชี้ปรับมาตรฐานผลิตเป็นยูโร 5 ใน 1-2 ปี เป็นเรื่องยาก
สินค้าที่ได้ประโยชน์จากระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พาราโบลาโดม ที่พัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ ดร.เสริม จันทร์ฉาย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี มาตั้งแต่ปี 2554 – 2561 ปีนี้ก็ยังส่งเสริมต่อ โดยผู้สนใจสามารถขอรับแบบเพื่อไปลงทุนติดตั้งเองที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ ยื่นหนังสือถึง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินลงทุน เงินจะมาจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แต่การให้เงินอุดหนุนก็ต้องรอการพิจารณา ดูถึงพื้นที่เหมาะสม และอื่นๆ และมีงบไม่มากนัก
โดยรูปแบบโดมจะมี 3 ขนาด ราคากลางของทางราชการหากลงทุนเองก็อยู่ ระหว่าง 390,000 – 1,200,000 บาท ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการ มากองทุนอนุรักษ์สนับสนุนไปแล้ว 256 ระบบ อบแห้งหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ผลไม้ ผัก ข้าวแต๋น ถั่วลิสง ลูกเดือย มังคุด ลูกประคบ หมอนยางพารา กล้วย อาหารสุนัข กากของเสียที่ได้ภายหลังจากการผลิตก๊าซชีวภาพ ประหยัดทั้งเชื้อเพลิง ลดความสูญเสียผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ละการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมๆ เกิดประโยชน์ 66 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเจ้าโดมนี้จะใช้แผ่นโพลีคาร์บอร์เนต ในการทำหลังคา ทำให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านเข้าไปในระบบอบแห้งได้ดี แผ่นโพลีคาร์บอร์เนตยังเป็นฉนวนความร้อนที่ดี ทำให้เกิดผลเรือนกระจก และเพื่อระบายความชื้นหรือน้ำที่ระเหยออกมาจากผลิตภัณฑ์ จึงมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศและมีช่องอากาศเข้าเพื่อให้อากาศไหลเข้าโรงอบแห้งที่ถูกดูดออกมา
ผู้ประกอบการหลายรายบอกว่า ได้โดมนี้ก็เหมือนเสือติดปีกให้กิจการ กระทรวงพลังงานเรียกโครงการสนับสนุนนี้ว่า พลังงานพารวย ในขณะที่ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ก็พร้อมอุดหนุนสินเชื่อกรีนเครดิตด้วย ลองไปฟัง ความเห็นจากผู้ประกอบการว่าเค้าได้ประโยชน์อย่างไรจากพาราโบล่าโดม
อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องพลังงาน ก็คือ มาตรฐานน้ำมันของไทย ปัจจุบันประกาศใช้บังคับ มาตรฐาน ยูโร 4 หรือ ยุโรประดับที่ 4 ซึ่งมีค่ากำมะถันต่ำกว่า 50 ppm หรือ 50 ส่วนในล้านส่วน ในขณะนี้พูดกันมากกว่า กำลังพัฒนาจะเป็นยูโร 5 ค่ากำมะถันต่ำจะต่ำกว่า 10 ppm จะช่วยลดมลพิษ โดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งบอกว่าพร้อม หาก ครม.ประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ภายในปีนี้ ทุกโรงกลั่นก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวปรับปรุง พร้อมผลิตทุกราย ภายใน 5 ปีถัดไปหรือ ไม่เกินปี 2567
ในขณะที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บอกว่า จะกำหนดให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถยนต์ยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า คงเป็นเรื่องยากเพราะการผลิตรถยนต์ต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการจำหน่ายน้ำมัน เพราะหากผลิตรถยนต์ยูโร 5 ออกมาแล้วไม่มีน้ำมันใช้ยูโร 5 ใช้ มันก็อาจจะมีปัญหากับเครื่องยนต์ได้
ส่วนกรณีที่ ครม.มีมติว่า มีมาตรการระยะยาว ปี 2564 – 2570 ในการแก้ปัญหาฝุ่น เช่น เร่งการปรับใช้มาตรฐานน้ำมัน ยูโร 6 ภายในปี 2566 เร็วขึ้นจากเดิม 1 ปี พัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ที่ใช้แล้วนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีการเห็นชอบนำเข้าเครื่องยนต์เก่าเป็นจำนวนมาก ส่วนภาครัฐจะประกาศมาตรฐานน้ำมันที่ชัดเจนจะเป็นปีไหนนั้น ภาคเอกชนก็รอความชัดเจน ซึ่งทั่วไปแล้วหลังจากประกาศก็ต้องเตรียมพร้อมหลังจากนั้น 5 ปี
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ ในขณะนี้ คือ การดูแลบังคับใช้กฏหมาย หากภาครัฐเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องควันดำ ฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง การบังคับให้ต้องล้างล้อรถยนต์ก่อนออกจากไซต์ก่อสร้าง ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ส่วนมาตรฐานยูโร 4 ปัจจุบันก็นับว่าเป็นมาตรฐานที่ดีระดับหนึ่ง
จำนวนรถยนต์ทั่วประเทศ ปี 2561 มีรถยนต์นั่ง (ไม่เกิน 7 ที่นั่ง) อยู่ 9 ล้านคัน อยู่ในกรุงเทพครึ่งหนึ่ง รถยนต์นั่ง (เกิน 7 ที่นั่ง) ราว 500,000 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคลราว 6,500,000 คัน โดย 20% หรือ 1,300,000 คน วิ่งใน กทม.มีแท็กซี่ 80,000 – 90,000 คัน รถโดยสาร 100,000 คัน และรถบรรทุก มีอยู่ราว 1,000,000 คัน.-สำนักข่าวไทย