ก.พลังงาน 13 ก.พ. –กระทรวงพลังงานหารือโรงกลั่นลดปัญหา PM 2.5 ให้ลดสำรองน้ำมันดิบเหลือร้อยละ 1 แลกกับการผลิตน้ำมันยูโร 4 พลัส เพื่อลดกำมะถันลง ด้านโรงกลั่นฯ พร้อมผลิตยูโร 5 ทุกหยดภายในปี 66
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผูประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อเร่งรัดมาตรการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน หรือ PM 2.5 โดยเร็วและยั่งยืน ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 รายพร้อมผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยุโรประดับที่ 5 หรือยูโร 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 จากเดิมเริ่มผลิตปี 2567-2568 ซึ่งจะทำให้ช่วยลดปริมาณฝุ่นดีขึ้น เพราะมาตรฐานยูโร 5 ปลดปล่อยกำมะถันได้ต่ำลงเหลือ 10 PPM จากยูโร 4 อยู่ที่ 50 PPM ซึ่งในกรณีที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ประกาศผลิตรถยนต์ยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2564 นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งรถยนต์ยูโร 5 เมื่อใช้น้ำมันยูโร 4 จะช่วยลดฝุ่นได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากใช้น้ำมันยูโร 5 แล้วจะลดฝุ่นประมาณร้อยละ 25 สำหรับระหว่างนี้โรงกลั่นทุกแห่งยังไม่สามารถผลิตน้ำมันยูโร 5 ทั้งหมด ปัจจุบันมีเพียงกำลังการผลิตบางส่วนของบริษัท พีทีทีโกบอลเคมิคอล (จีซี) และบางส่วนของบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตยูโร 5 ได้ โดยคิดเป็นอัตราประมาณ 440-500 ล้านลิตรต่อเดือน จากความต้องการใช้ดีเซลของประเทศที่ประมาณ 1,800-2,000 ล้านลิตรต่อเดือน ดังนั้น ในช่วงนี้ผู้ประกอบการทุกรายจะกลับไปสรุปภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลจากมาตรฐานยูโร 4 ให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือเป็นยูโร 4 พลัส ซึ่งจะลดค่ากำมะถันลงเหลือ 30 PPM ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้นด้วยการปรับปรุงอุณหภูมิการกลั่นสูงขึ้นและนำเข้าน้ำมันดิบคุณภาพสูง หรือกำมะถันต่ำมากนั้น ทางกระทรวงพลังงานจึงจะช่วยในการลดต้นทุนโรงกลั่น เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค โดยเตรียมจะประกาศลดสำรองน้ำมันดิบทางกฎหมายลงจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 1 ซึ่งจะเท่ากับสำรองน้ำมันสำเร็จรูปผู้ค้าทั่วไป ขณะเดียวกันอาจจะหามาตรการกำหนดพื้นที่ให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลยูโร 5 เป็นลักษณะโซนนิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ให้มีการขายน้ำมันยูโร 5 หรือเกรดพรีเมี่ยมให้มากที่สุด โดยจะให้กำหนดราคาขายใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 ไม่มาก จากปัจจุบันราคาจำหน่ายมีความแตกต่างประมาณ 3.50 บาทต่อลิตร โดยอาจจะพิจารณาใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนในส่วนนี้ ขณะเดียวกันจะมีการรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษบี 20 เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป เช่น รถกระบะ 1 ตัน จากปัจจุบันบี 20 ใช้เฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่ และเรือโดยสารสาธารณะ ขณะนี้การทดสอบการใช้บี 20 ในรถของ ขสมก. 2075 คัน พบว่าช่วยลดปัญหาการปล่อยควันดำไอเสียได้สูงถึงร้อยละ 50 นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหา PM 2.5 แล้ว ยังช่วยัรักษาสมดุลราคาปาล์มน้ำมัน และช่วยเหลือเกษตรกรทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ จากการที่มีการเปิดจำหน่ายบี 20 ผ่านปั้มน้ำมัน ปตท.และบางจาก 10 ปั้ม พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียง 3 วัน ขายได้ถึง 150,000 ลิตร ดังนั้น จะเร่งขยายผลส่งเสริมให้ปั้มขายบี 20 เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณาขยายระยะเวลาการอุดหนุนราคาบี 20 ให้ถูกกว่าบี 7 อัตรา 5 บาทต่อลิตร จากเดิมหมดระยะเวลา 3 เดือนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
“นายกรัฐมนตรีสั่งการให้การแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ทางโรงกลั่นจึงร่วมมือผลิตยูโร 5 เร็วขึ้นภายใน 3 ปีครึ่งนับจากนี้ การส่งเสริมบี 20 และยูโร 4 พลัส จะช่วยทำให้ PM 2.5 ลดลงได้เช่นกัน ซึ่งจะลดสำรองน้ำมันให้โรงกลั่นก็นับว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน” รมว.พลังงาน กล่าว.-สำนักข่าวไทย