กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – รัฐบาลแจ้ง ผู้บริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เตรียมแผนให้ยกเลิกบริหารแอร์พอร์ตลิงค์ เพื่อให้เอกชนผู้ชนะประมูล รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินมาบริหารแทน โดยปรับให้ไปบริหารเดินรถสายสีแดง คาดเริ่มเปิดบริการปี 64
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หารือคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และเปิดเผยภายหลังหารือว่า ได้แจ้งให้ผู้บริหารแอร์พอร์ตเรลลิงค์ทราบแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่าให้ ทางบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เป็นผู้บริหารการเดินรถ รถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อและบางซื่อ-รังสิต โดยรูปแบบชัดเจนจะให้ยกโครงสร้างทั้งองค์กร คณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และพนักงาน ไปบริหารการเดินรถสายสีแดง คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 2564 หรือเมื่อสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างเสร็จสามารถเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงตลอดทั้งเส้นทาง โดยยังคงเป็นบริษัทลูกของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ รฟท.ถือหุ้นร้อยละ 100 ต่อไป
ส่วนโครงสร้างและขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ปัจจุบัน ทาง รฟท.จะโอนโครงการทั้งหมดไปให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ) เป็นผู้บริการ โดยเอกชนรายดังกล่าวจะจ่ายเงินคืนค่าลงทุนให้แก่ รฟท.วงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท
สำหรับแนวทางดังกล่าวกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ รวมถึง รฟท.จะมีการจัดหาแหล่งเงินวงเงินกว่า 3,500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเป็นกรอบวงเงินที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยศึกษาว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงตามขนาดของโครงการต้องใช้ทุนตั้งต้นบริหารด้วยวงเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อแนวทางดังกล่าวชัดเจนให้ผู้บริหาร รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบาย เชื่อว่าผู้บริหารปัจจุบันจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จเมื่อแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหาจำนวนรถไม่เพียงพอและสามารถซ่อมขบวนรถสามารถกลับมาใช้งานได้ทั้ง 9 ขบวน และเดินรถได้ต่อเนื่องจนมีผู้โดยสารสูงสุดบางวันกว่า 88,000 คน
รมช.คมนาคม กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ว่า ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่การเดินระบบรถไฟและรถไฟฟ้าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐาน หลังจากก่อนหน้านี้ไทยมีหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศไปแล้ว ในอนาคตกรมการขนส่งทางรางจะกำกับมาตรฐานทั้งขบวนรถ ความปลอดภัย การออกใบอนุญาตคนขับรถไฟ เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานและตรวจสอบได้ตามที่กำกับนโยบายไว้.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขกับทางกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตร ซึ่งเป้าหมายจะจบการเจราจาในเดือน กุมภาพันธ์นี้และลงนามสัญญาภายในเดือนมีนาคม 2562 .- สำนักข่าวไทย