ธปท. 6 ก.พ. – กนง.จับตาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 77.8 จากสินเชื่อรถยนต์ คงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.75 พร้อมเข้าดูแลเงินบาทหากผิดปกติ
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ซึ่งอีก 2 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ส่วนกรรมการ 1 คน ลาประชุม โดย กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าภาคการส่งออกสินค้าจะชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ โดยจะยังติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สร้างความเปราะบางกับเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ร้อยละ 77.7 เพิ่มเป็นร้อยละ 77.8 ในไตรมาส 3/2561 พบว่ามาจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงปีที่แล้ว และยังต้องติดตามพัฒนาการของสินเชื่อที่อยู่อาศัย การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น กนง.ให้ติดตามใกล้ชิด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินในประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทไทยตั้งแต่สิ้นปี 2561 จนถึงปัจจุบัน (YTD) แข็งค่าร้อยละ 4.1 ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้เป็นเงินสกุลที่เเข็งค่าที่สุดในโลก โดยเเข็งค่าน้อยกว่าอินโดนีเซียที่ร้อยละ 4.3 ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ผันผวนน้อยกว่าเงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินหยวนจีน และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย ซึ่งแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวนต่อไป ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมติดตามใกล้ชิด หากพบความผิดปกติจะเข้าไปดูแล เพราะค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจเช่นกัน
นอกจากนี้ ยืนยันว่าการที่ กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นร้อยละ 1.75 ไม่ได้เป็นผลให้เงินทุนไหลเข้าไทย ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า เงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตร 12,000 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,400 ล้านบาท รวมสุทธิมีเงินไหลออก 5,600 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย