รร.สุโกศล 1 ก.ย.-ยูเนสโกร่วมOECD เสนอนโยบายพัฒนาการศึกษาไทย ชี้จัดสรรงบฯ ให้มีคุณภาพ พัฒนาครูเเละทำให้เด็กมัธยมฯ มีความรู้พื้นฐานทุกคน จะส่งผลให้GDP ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมระหว่างประเทศ ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย ร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่สภาการศึกษาจัดขึ้น เพื่อเเลกเปลี่ยนความรู้นโยบายด้านการศึกษากับหน่วยงานระหว่างประเทศเเละจัดทำข้อเสนอเเนวทางการพัฒนานโยบายด้านการศึกษาของไทย โดยภายในงานมีการอภิปรายเรื่อง “ประเด็นสำคัญและความท้าทายของภาคการศึกษา”จากข้อค้นพบของ UNESCO และ OECD โดยนายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ม.ล.ปริยดา กล่าวว่า การศึกษาสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เเข่งขันกับเวทีโลกได้ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเเละเปลี่ยนเเปลงสังคมให้ดีขึ้น การลงทุนการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยุคไทยเเลนด์4.0 ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำขึ้น เน้นใน 4 ด้านคือพัฒนาหลักสูตร ครู ระบบไอซีทีเเละการประเมิน ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต
Ms.Elizabeth Fordham ผู้เเทนองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวถึงข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยในการอภิปรายประเด็นสำคัญเเละความท้าทายของภาคการศึกษา ว่า ประสบการณ์การเรียนรู้เเละทักษะ คือคุณสมบัติที่เด็กเเละทุกคนควรมีเพื่อพัฒนาประเทศ ไทยตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้ได้ ในปี 2030 จึงต้องปรับการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น เเต่ที่ผ่านมาจากผลการทดสอบ PISA พบคะเเนนเด็กไทยต่ำกว่าเวียดนาม เเม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการสนับให้เด็กทุกคนได้เรียน เด็กปฐมวัยเข้าเรียนสูงถึงร้อยละ 90 มัธยมศึกษาร้อยละ 60เเต่เด็กยากจนเข้าถึงการศึกษาเพียงร้อยละ 10 และงบประมาณจำนวนมาก เเต่ไม่ได้จัดสรรลงไปถึงเด็ก ขณะที่ประเทศตุรกีเเละเวียดนาม งบประมาณน้อยกว่าเเต่พัฒนาเด็กได้ดีกว่า จึงเสนอให้ไทยต้องเปลี่ยนเเปลงเรื่องจัดสรรงบประมาณเป็นเรื่องเเรกต่อมาต้องพัฒนาครู ปรับเงินเดือนครูมัธยมศึกษาเเละเติมจำนวนครูให้ครบทุกโรงเรียน พัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง เด็กระดับมัธยมศึกษาทุกคนต้องมีทักษะความรู้พื้นฐาน เพราะหากเด็กทุกคนมีความรู้พื้นฐาน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 .-สำนักข่าวไทย