ตลท. 30 ม.ค. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมผลักดันธุรกิจค้าปลีก รุกเพิ่มมูลค่าสินค้าแบบบูรณาการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร ผู้บริโภค และสังคม
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นประธานเปิดงานเวทีเสวนาสาธารณะ “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม” โดยระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคคนไทยอย่างมาก ปี 2559 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีประเทศ เป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมการผลิต ด้านสัดส่วนการจ้างงาน คิดเป็นร้อยละ 15 การจ้างงานทั้งประเทศ หรือประมาณ 6.6 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่าง ๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น และสินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และองค์การอ๊อกแฟมในประเทศไทย จึงร่วมรณรงค์ให้ธุรกิจค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้บริโภค คู่ค้า เกษตรกรรายย่อย แรงงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส ได้เน้นการพัฒนาเกษตรกรและเอสเอ็มอีไทยอย่างยั่งยืนนับตั้งแต่ปี 2553 ด้วยการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรโดยตรงจากเกษตรกรในประเทศไทยโดยไม่ผ่านคนกลาง ช่วยสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้กับเกษตรกรต่อเนื่อง และจากการวางแผนรับซื้อผลผลิตล่วงหน้าร่วมกัน โดยปี 2560 เทสโก้ โลตัส รับซื้อผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์โดยตรงจากเกษตรกรรวมกันมากกว่า 200,000 ตัน พร้อมทั้งได้ทำงานกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเดินสายให้ความรู้กับเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนในการเพาะไส้เดือนฝอย กำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันและกำจัดแมลง ลดการใช้สารเคมี เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกันมีการลดการใช้ถุงพลาสติกในทุกสาขาด้วย ด้านเทสโก้ โลตัส ปัจจุบันให้บริการลูกค้ามากกว่า 15 ล้านคนต่อสัปดาห์ จากร้านค้า 2,000 แห่ง ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะกรรมการผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งทำธุรกิจเพื่อสังคมตลอด ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะเลิกใช้ถุงพลาสติก เช่น หลอดและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้เริ่มต้นที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้า ด้านร้านซีพีเฟรช มาร์ท ตั้งเป้าร้อยละ 100 ของคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ กลุ่มเครื่องปรุง และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน ภายในปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 27 นอกจากนี้ ผู้บริโภคไก่สามารถแสกน QR Code เพื่อดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาตรฐานฟาร์ม ที่ตั้งโรงงานแปรรูปไก่ มาตรฐานโรงงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังขยายให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ ทั้ง สุกร อาหารสำเร็จรูป ไข่ไก่ กุ้ง และปลาด้วย ทั้งนี้ ซีพีเฟรช มาร์ท เป็นร้านค้าที่โฟกัสสินค้าสำหรับทำครัว ครอบคลุมทั้งอาหารสด อาหารพร้อมทานและอาหารแห้ง ปัจจุบันมีร้านค้ารวม 417 ร้านทั่วประเทศ และแม็คโคร 115 สาขาทั่วประเทศ . – สำนักข่าวไทย