กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ ไฟเขียวกรมฝนหลวงฯ ซื้อเครื่องบินใหม่ 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ งบกว่า 1,400 ล้านบาท เชื่อมั่นฝนหลวงมีศักยภาพช่วยทำฝนช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทาน 120 ล้านไร่ ด้านอธิบดีฝนหลวงฯ ระบุมีภารกิจมากขึ้น เร่งเจรจา ก.พ.เพิ่มอัตรากำลังอีกเท่าตัว เผยขาดแคลนนักบินกว่า 10 อัตรา
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เนื่องในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงฯ ครบรอบ 2 ปี ว่า กรมฝนหลวงฯ สามารถช่วยชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้ดียิ่งขึ้น หัวใจสำคัญการทำการเกษตรประกอบด้วยดิน น้ำ และอากาศ ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรม 149 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ ส่วน 120 ล้านอยู่นอกเขตชลประทานต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำฝน ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร
สำหรับการทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้เทคนิคตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ทำให้เกิดฝนตกในกรุงเทพฯ และรอบนอก เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง แต่ช่วงนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำและค่าดัชนีการยกตัวของเมฆอยู่ในเกณฑ์ไม่เหมาะสมจึงยังเป็นอุปสรรค แต่สั่งให้กรมฝนหลวงฯ เตรียมพร้อมตลอดเวลาเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ขึ้นปฏิบัติการทันที ขณะนี้ได้จัดตั้งหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีเครื่องมือติดตามสภาพอากาศ นักวิทยาศาสตร์ นักบิน เครื่องบินและสารฝนหลวงพร้อมปฏิบัติการทุกทิศของกรุงเทพฯ ตามทิศทางลมที่จะพัดเมฆเข้ามาตกเป็นฝนในกรุงเทพฯ เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
นายกฤษฎา กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาเผาซากพืชและวัชพืชจากการทำเกษตรว่า ที่ผ่านมาประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ทำความเข้าใจกษตรกร ทำให้การเผาลดลงอย่างมากตรวจสอบได้จากจุดความร้อน (Hotspot) ลดลงตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ แนะนำให้เกษตรกรใช้สารชีวพันธุ์ช่วยย่อยสลายซากพืช เช่น ตอกซังข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว รวมถึงข้าวโพดยังคงมีตอของต้นเหลืออยู่ จากเดิมเกษตรกรใช้วิธีเผา ซึ่งปัจจุบันไถกลบแล้วใช้สารจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายภายใน 1สัปดาห์ โดยขณะนี้เกษตรกรนิยมใช้กันมาก ส่วนฝุ่นควันที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านทุกปีนั้น ได้ประสานงานเพื่อขอความร่วมมืองดเผาซากพืช ซึ่งรัฐบาลทำได้ก้าวหน้าระดับหนึ่ง โดยช่วงฤดูแล้งเครื่องบินพาณิชย์ไม่ต้องหยุดบินเหมือนบางปี
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เห็นชอบแผนเพิ่มประสิทธิภาพฝนหลวง ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องบินขนาดใหญ่ 14 ลำ และให้จัดซื้อใหม่อีก 2 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินฝูงเก่าที่ใช้งานมานานมีอายุตามวงรอบและจัดหาเฮลิคอปเตอร์ อีก 1 ลำ ตั้งงบประมาณไว้แล้ว นอกจากนี้ ได้ให้แนวทางนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯ และเจ้าหน้าที่ช่วยกันทดลองศึกษาหาเทคนิคเพิ่มเติมกรณีความชื้นสัมพัทธ์และค่าดัชนีการยกตัวของเมฆไม่เหมาะสมจะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ ซึ่งนายสุรสีห์รายงานว่าขณะนี้กำลังทำวิจัยพัฒนาประสิทธิภาพของสารฝนหลวง โดยพัฒนาให้สามารถดูดความชื้นมากขึ้นและจะนำไปทดลองใช้ในการปฏิบัติการหน้าแล้งนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำจากนี้ไปจนกระทั่งถึงช่วงต้นฤดูฝน กรมชลประทานยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอ แม้จะมีการปลูกข้าวต่อเนื่องกันมาก จากที่รณรงค์ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน แต่เนื่องจากข้าวราคาดี เกษตรกรจึงยังคงปลูกข้าว จึงกำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ยืนยันว่ามีน้ำใช้เพียงพอทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศน์อย่างแน่นอน
ด้านนายสุรสีห์ กล่าวว่า กำลังจัดซื้อเครื่องบินใหม่คาซ่า 2 ลำ งบ 900 ล้านบาท จากประเทศอินโดนีเซีย และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ ราคา 500 ล้านบาท เป็นงบประมาณต่อเนื่องปี 2561-2563 โดยปีนี้จะได้เครื่องบินคาช่ามา 1 ลำ และปีหน้าอีก 1 ลำ มาทดแทนเครื่องเก่า ซึ่งเครื่องบินฝนหลวงที่มีอายุการใช้งานเก่าสุด 40 ปี และใหม่สุด 2 -3 ปี ซึ่งเครื่องบินที่สั่งมาใหม่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ ยังมีปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ โดยขณะนี้มีข้าราชการ 205 คน พนักงานและลูกจ้างกว่า 200 คน ซึ่งภารกิจฝนหลวงเพิ่มขึ้นทั้งพื้นที่เกษตรและในเขตเมืองจากภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งสั่งการให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขออัตรากำลัง พร้อมเปิดรับสมัครนักบินอีก 4 ตำแหน่ง แทนผู้เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังต้องการนักบินเพิ่มอีก 10 ตำแหน่ง จึงจะมีจำนวนเหมาะสมกับภารกิจ.-สำนักข่าวไทย