กรุงเทพฯ 22 ม.ค.- ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ดูการตั้งด่านตรวจจับควันดำของตำรวจกองบังคับการตำรวจจราจร ว่ามีขั้นตอนอน่างไร ขณะที่ตำรวจบอกว่า ผลการตรวจพบว่าเกือบครึ่งมีควันดำเกินค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด ส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
เสียงเร่งเครื่องยนต์ของรถกระบะดังขึ้นพร้อมๆ กับควันที่ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย นี่เป็นหนึ่งในขั้นตอนการตรวจวัดควันดำ ของตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 6 กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร ที่วันนี้ตั้งจุดตรวจจับรถควันดำบนถนนพหลโยธิน แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง เส้นทางมุ่งหน้าตลาดสี่มุมเมือง รังสิต ปทุมธานี
อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดควันดำเรียกว่า “เครื่องตรวจวัดแบบทึบแสง” จะตรวจวัดปริมาณควันดำที่ออกมาจากท่อไอเสีย ตามมาตรฐานกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 45
นายตำรวจผู้ควบคุมการปฏิบัติงานให้ข้อมูลว่า การเรียกตรวจรถแต่ละคันเริ่มจากสังเกตลักษณะกายภาพของรถ ปีที่ผลิต คราบเขม่าควันที่มองเห็น และรถแต่งซึ่ง ขั้นตอนการตรวจคือให้คนขับจอดรถ ดึงเบรกมือ ใส่เกียร์ว่าง ปิดแอร์/จาก นั้นให้เร่งเครื่อง เพื่อฟังเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ และไล่เขม่า 2 ครั้ง เมื่อพบว่าเครื่องยนต์ทำงานปกติ จะเริ่มตรวจวัดควันดำครั้งที่ 1 โดยนำเครื่องตรวจวัดแบบทึบแสง หรือ Opacity ใส่ปลายท่อไอเสีย ก่อนให้คนขับกดคันเร่งจนสุด จากนั้นตรวจวัดซ้ำครั้งที่ 2 แบบเดียวกัน หากพบว่าตัวเลขที่แสดงออกมาเกินร้อยละ 45 ก็จะออกใบสั่ง การตั้งจุดตรวจควันดำที่ผ่านมาพบว่าเกือบครึ่งมีค่าควันดำเกินมาตรฐาน และมักมาจากเครื่องยนต์ดีเซล
รถบรรทุกขนหอมหัวใหญ่มาจากเชียงใหม่จะไปส่งที่ตลาดสี่มุมเมือง รังสิต ปทุมธานี แต่ถูกเรียกตรวจควันดำ ผลการตรวจทั้ง 2 ครั้ง พบว่าตัวเลขอยู่ที่ 55 และ 57 เกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่เขียนใบสั่งให้คนขับ และให้คำแนะนำเรื่องการตรวจสภาพ
สำหรับรถกระบะและและรถบรรทุกส่วนบุคคลขนาดเล็ก ที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจร มาตรา 10 ทวิ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนรถขนส่ง รถบรรทุกขนาดใหญ่ มีความผิดตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า สาเหตุหลักของการเกิดควันดำ คือ การปรับแต่งระบบปั๊มจ่ายน้ำมันที่ไม่เหมาะสม และตั้งจังหวะการฉีดน้ำมันไม่ถูกต้อง องศาการฉีดไม่สมบูรณ์ ฉีดน้ำมันมากเกินไป ซึ่งมีทั้งรถเก่า และรถที่ปรับแต่งเพื่อต้องการให้เครื่องแรง ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดสารพิษหลายชนิด และฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาเกิดมลภาวะทางอากาศ และส่งผลกระทบสุขภาพกับสุขภาพประชาชนในขณะนี้ จึงต้องกลับไปเร่งแก้ไข และบำรุงเครื่องยนต์ เช่น ตรวจสอบอุปกรณ์การฉีดน้ำมัน หรือปรับแต่งหัวฉีด เพื่อให้เครื่องยนต์เผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ไม่เกิดควันดำ.-สำนักข่าวไทย