กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปฏิเสธ 8 ข้อเสนอซีพี และรับข้อเสนอ 3 ข้อ นัดเจรจารอบสอง 25 มกราคมนี้
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเปิดซอง 4 และ พิจารณาข้อเสนอพิเศษของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ว่า ทาง กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรยื่นข้อเสนอพิเศษทั้งหมด 11 ข้อ โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ ตะเภา รับข้อเสนอได้เพียง 3 ข้อ เนื่องจากเป็นไปตามหลักการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ส่วนอีก 8 ข้อ ไม่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ
นายวรวุฒิ กล่าวว่า วันที่ 21 มกราคม 2562 ทางคณะกรรมการคัดเลือกประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกลุ่มกิจการร่วมค้าซีพี ถึงรายละเอียดซองที่ 4 พร้อม 4 กรอบการเจรจา ครั้งถัดไป และเหตุผลการพิจารณารับและไม่รับข้อเสนอพิเศษ และจะเรียกซีพีเจรจาอีกครั้งวันที่ 25 มกราคม 2562 เนื่องจากซีพีต้องส่งเอกสารให้พันธมิตรในต่างประเทศ โดยส่วนตัวคาดว่าอาจจะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นและอาจจะล่าช้าไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีและเซ็นสัญญาได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562 ตามกำหนดการเดิม
สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมที่ต้องเจรจาต่อไป คือ การพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งเรื่องความเสี่ยงในอนาคต ที่ทางซีพี ชี้แจงถึงความเสี่ยงของโครงการในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น อาทิ วัสดุราคาสูงขึ้น หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการทันที
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เอกชนที่ชนะประมูลจะได้รับสิทธิ์พัฒนาบริหาร เดินรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งพัฒนาและบริหารที่ดินมักกะสัน 50 ปี โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนอยู่ที่ 224,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนเริ่มต้นระบบขนส่งทางรถไฟ 168,000 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,100 ล้านบาท และสิทธิ์การเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,600 ล้านบาท ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการมีประมาณ 700,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย