อุตรดิตถ์ 16 ม.ค.-ไปดูการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงซ่อมแซมถนนลูกรังที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ชาวบ้านในการขนส่งพืชผัก วันนี้ ได้กลายเป็นถนนปลอดฝุ่น ผิวถนนแข็งแรงสัญจรสะดวกสบายขึ้น
เส้นทางในหมู่บ้านหลังวัดกลาง ต.นายาง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เดิมเป็นถนนลูกรังที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้สัญจรและขนพืชผลทางการเกษตรออกจากไร่นา มาวันนี้กลายเป็นถนนยางพารา หรือถนนพาราซอยซีเมนต์ 1 ใน 7 เส้นทางนำร่องของ จ.อุตรดิตถ์ หลังการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศมาใช้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน โดยกองทัพภาคที่ 3 สนับสนุนทหารช่างและเครื่องมือช่างเข้าดำเนินการเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก่อสร้างเป็นถนนผิวแอสฟัลติกคอนกรีตผสมน้ำยางข้นกว่า 1,800 ตัน เฉพาะที่ ต.นายาง มีระยะทาง 1,700 เมตร ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว
เส้นทางใหม่ที่ซ่อมแซมปรับปรุงจากยางพารา นอกจากจะสร้างโดยใช้งบประมาณน้อย ยังกลายเป็นถนนปลอดฝุ่น ผิวถนนแข็งแรง ช่วยเพิ่มอายุการใช้งาน 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับถนนลูกรังเดิม ขณะที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งและสัญจรสะดวกสบายขึ้น
นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทยและกองทัพบกยังขยายการดำเนินการปรับปรุงถนนจากยางพาราใน 11 จังหวัดภาคเหนือ รวม 78 เส้นทาง ระยะทาง 174 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพารา และช่วยเหลือผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่อีกหลายหมื่นราย
ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยมีองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ร่วมประชุมเพื่อรับทราบข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราสำหรับงานถนนท้องถิ่น นายกฤษฎา กล่าวว่า กยท.รายงานข้อมูลล่าสุดว่ามี อบจ.หลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ การสร้างถนนสัญจรในชุมชนเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกระทรวงกลาโหมสร้างถนนชุมชนต่างๆ แล้วใน 30 จังหวัด สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน สร้างถนนและคันคลองชลประทานที่มียางพาราเป็นส่วนผสมตามเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้หาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารามีความทนทานกว่าถนนดินลูกรังบดอัดแน่น ซึ่งทำกันอยู่เดิมถึง 3 ปี.-สำนักข่าวไทย