กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กรมชลฯ เร่งกู้สวนส้มโอทับทิมสยามกว่า 1.6 พันไร่ เมืองคอนน้ำลดแล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำคาดอีก 7 วันสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะที่แม่น้ำตรังลดลงไม่กระทบตัวเมือง ด้านกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมแจกเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 100 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 จังหวัดภาคใต้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมสวนส้มโอทับทิมสยาม ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กว่า 1,600 ไร่ ปริมาณน้ำลดลงและกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา ส่วนน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเขต อ.ชะอวด อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และ อ.เฉลิมพระเกียรติ กรมชลประทานได้เดินเครื่องสูบน้ำ 31 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 24 เครื่อง พร้อมทั้งเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำที่ติดกับทะเลตามจังหวะการขึ้น-ลง ของระดับน้ำทะเล เพื่อช่วยเพิ่มการระบายน้ำอีกทางหนึ่ง
ส่วนสถานการณ์น้ำแม่น้ำตรัง หลังจากกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำตามสะพานและจุดเสี่ยงรวมทั้งบริเวณจุดเฝ้าระวัง ที่สถานี X.233, X.56 อ.ห้วยยอด และที่สถานี X.47 อ.เมือง ทำให้น้ำระบายได้ดีขึ้น ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มลดลง และไม่ส่งผลกระทบต่อเทศบาลเมืองตรังอย่างแน่นอน ทั้งนี้จะเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยทุกพื้นที่กลับสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน
ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุบาปึกที่เข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องรอระดับน้ำลดจึงจะเข้าฟื้นฟูได้ ซึ่งขณะนี้พื้นที่สวนส้มโอ สวนยางพารา สวนปาล์ม น้ำลดระดับลงและเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมพร้อมสำหรับให้เจ้าหน้าที่การเกษตรทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สำรวจความเสียหายและเร่งฟื้นฟู เพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไปแล้ว สำหรับการแจกจ่ายเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 100,000 กิโลกรัมนั้น ได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนซึ่งศูนย์มีความพร้อมและมีเครื่องมือที่ทันสมัยรองรับการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมสำหรับการแจกจ่ายเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 100,000 กิโลกรัม ให้เกษตรกร ในจังหวัดที่ประสบภัยได้ทันที
สำหรับวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา เกษตรกรจะนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าใช้ทางดิน โดยใช้เชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมรำ 4 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก) 1๐๐ กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำส่วนผสมของเชื้อ นำไปโรยพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลด ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด ซึ่งมักจะระบาดในพื้นที่น้ำท่วมขัง และเชื้อโรคแพร่กระจายไปกับน้ำ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นมากที่จะต้องใช้.-สำนักข่าวไทย