อุตรดิตถ์ 9 ม.ค.- รมว. เกษตรฯ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา IUU ประมง พร้อมทบทวนกฎหมายที่ชาวประมงร้องเรียนว่า มีโทษหนักและทำให้การออกเรือทำประมงยุ่งยาก รวมถึงจะดูแลชาวประมงพื้นบ้าน-ประมงชายฝั่งให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึง การที่สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนสถานภาพการทำประมงของไทยจากใบเหลือง จาก IUU Fishing หรือประเทศที่มีความเสี่ยงที่ จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (possibility of identifying as non-cooperating country) ภายใต้กฎระเบียบ ของสหภาพยุโรป โดยปรับเป็นการให้ใบเขียว หรือ สถานภาพที่ได้แก้ไขปัญหาประมงแล้วนั้น ก็ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการเรือประมง ที่ระบุว่า กฎหมายประมงที่ปรับปรุงใหม่นั้น ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากในการออกเรือทำประมง อีกทั้งโทษในกรณีที่ทำผิดระเบียบต่างๆ รุนแรงเกินไปได้แก่ ค่าปรับ การริบเรือ การอายัดสัตว์น้ำนั้น ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีผู้แทนของชาวประมงและผู้ประกอบการประมงร่วมด้วย เพื่อศึกษาความเหมาะสมของระเบียบต่างๆ หากมีส่วนใดที่มีขั้นตอนยุ่งยากหรือโทษรุนแรงเกินความเหมาะสม กรมประมงและกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะปรับแก้เพื่อให้ชาวประมงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านและประมงชายฝั่งด้วยตามข้อกำชับของนายกรัฐมนตรีที่ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วพบว่า ชาวประมงมีรายได้น้อยและคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องการประกอบอาชีพประมงว่า จากการที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท ทำให้หาสัตว์น้ำได้น้อยลง จึงต้องหาเครื่องมือประมงอื่นมาทดแทนเพื่อให้มีมีรายได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้มีอาชีพเสริม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมถึง การนำเรือประมงออกนอกระบบ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการนี้ โดยให้หาแนวทางช่วยเหลือเจ้าของเรือประมงที่ไม่สามารถใช้เรือประมงประกอบอาชีพได้ต่อไป รวมถึงกลุ่มแสดงความจำนงว่า ต้องการเลิกทำประมงมาเพิ่มเติม โดยขอให้รัฐจ่ายค่าชดเชยหรือประสานการขายเรือให้ผู้ประกอบการประมงต่างประเทศ ซึ่งในกลุ่มแรกที่มีการทำประวัติและบันทึกภาพเรือไว้ตั้งแต่ปี 58 – 59 จำนวน 697 ลำนั้น ไม่ต้องตรวจสอบและทำประวัติใหม่แล้ว แต่จะตรวจสอบการมีอยู่จริงของเรือ ซึ่งจะทราบจำนวนที่แน่นอนภายในวันพรุ่งนี้ (10 มกราคม 62) แล้ว ส่วนกลุ่มที่เปิดให้มาแจ้งความจำนงเลิกประกอบอาชีพประมงเพิ่มเติมซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดวันพุร่งนี้เช่นกัน จะมีคณะทำงานตรวจสภาพและประเมินมูลค่าส่วนต่างๆ ของเรือ โดยใช้ราคากลางในปี 58 – 59 จึงจะทราบว่า ต้องจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเท่าไรเพื่อเสนอให้ครม. พิจารณาเห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีแนวทางช่วยเหลืออีกทางหนึ่งคือ การประสานการขายเรือให้ต่างประเทศ หากเจ้าของเรือต้องการ โดยจะประสานผ่านสถานทูตประเทศนั้นๆ ประสานกับภาคเอกชนในต่างประเทศที่ต้องการซื้อเรือประมง รวมถึงจะออกใบรับรองต่างๆ ตามกฎหมาย
“ขอให้พี่น้องชาวประมงมั่นใจว่า คณะกรรมการฯ จะเร่งทำแก้ปัญหาให้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่า ปัญหาจะค้างคา จนต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้” นายกฤษฎากล่าว-สำนักข่าวไทย