กรุงเทพฯ 5 ม.ค.-ก.เกษตรฯ ระดมกำลังทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งสำรวจความเสียหายจากพิษ “ปาบึก” ด้านกรมชลฯ ระวังอ่างเก็บน้ำต่อเนื่องคาดระบายพื้นที่ท่วมขังภายใน 1 สัปดาห์
นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึก เปิดเผยว่า นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เปิดศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึก ขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และความต้องการช่วยเหลือ ประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสรุปรายงานสถาการณ์ภาพรวมเป็นรายวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ณห้องปฏิบัติการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ทุกหน่วยงานจะเร่งสำรวจความเสียหายด้านการเกษตรและเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด ด้านปศุสัตว์ กำหนดจุดอพยพสัตว์ สำรองเสบียงสัตว์ ด้านพืช ด้านประมง กามส่งเสริมการเกษตร และกรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกด้วยแล้ว” นายสุรจิตต์ กล่าว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ หลังจากที่เมื่อเวลา 12.45 นาฬิกาของวานนี้ (4 มกราคม 62) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) เคลื่อนขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศูนย์กลางพายุบริเวณอำเภอช้างกลาง ทำให้ที่อำเภอปากพนังมีฝนตกเฉลี่ย 117 มิลลิเมตร อำเภอเมืองฝนตกเฉลี่ย 225 มิลลิเมตร บริเวณที่ลุ่มต่ำในอำเภอเมืองน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่งคลองสายสำคัญๆ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่องโดยใช้เครื่องสูบน้ำ 55 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำ 50 เครื่องที่ได้ติดตั้งไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว และใช้เครื่องจักรหนัก 40 คันเปิดทางน้ำโดยการขุดขยายปากแม่น้ำที่จะออกสู่ทะเลและขุดลอกสันดอนอออกเพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ล่าสุดสำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังไม่มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น โดยอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.66 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 96.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.57 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33.43 ล้านลูกบาศก์เมตร เดิมวานนี้ (4 มกราคม 62) ได้เพิ่มการระบายน้ำออกจากอ่างเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับฝนหนัก แต่เส้นทางของพายุที่ขยับลงตอนล่างของภาค ทำให้น้ำไหลเข้าไม่มาก ในวันนี้จึงจะปรับลดลงเหลือ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน , ที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลาคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 38.82 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 340.18 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีเขื่อนที่รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า 239.82 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 698.18 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายทองเปลวกล่าวเพิ่มเติมว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่คาดการณ์ว่า น้ำจะล้นมี 7 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยสามเขา จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำคลองจะกระและอ่างเก็บน้ำคลองบึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอ่างเก็บน้ำคลองหยา จังหวัดกระบี่
“ได้สำรองเครื่องสูบน้ำไว้อีก 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 82 เครื่อง รถขุดและรถแทรกเตอร์ 108 คัน สะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ 5 ชุด และเครื่องจักร-เครื่องมืออื่นๆ กระจายอยู่ครอบคลุมทั้ง 16 จังหวัด และจากการประเมินสถานการณ์ หากปริมาณฝนสะสมจนถึงวันที่ 6 มกราคมไม่เกิน 300 มิลลิเมตร ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ซึ่งแม้ถือว่า เป็นฝนหนักมาก แต่การที่กรมชลประทานวางแผนรับสถานการณ์มาล่วงหน้า จึงคาดว่า จะสามารถเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้หมดภายใน 1 สัปดาห์” นายทองเปลว กล่าว. – สำนักข่าวไทย