กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – กรมชลประทานตั้งศูนย์อำนวยการและบัญชาการบรรเทาผลกระทบจากพายุปาบึก เฝ้าระวังระดับสูงสุด ติดตามตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุดมีฝนตกหนักจากรัศมีของพายุ คาดค่ำนี้ศูนย์กลางปาบึกจะขึ้นฝั่ง ยังคงเร่งพร่องน้ำในอ่างต่าง ๆ เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกหนักถึงหนักมาก
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์อำนวยการและบัญชาการบรรเทาผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกที่กรมชลประทาน ตามข้อสั่งการของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะมาดูแลและสั่งการตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน“ปาบึก ล่าสุดอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ละติจูด 7.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงค่ำของวันนี้ (4 ม.ค.) ซึ่งจากการตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏว่าเกิดฝนตกหนักในจังหวัดทางตอนล่างของภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราชถึงนราธิวาส เนื่องจากรัศมีของพายุเคลื่อนถึงฝั่งแล้ว และจะขยับเข้ามาจนกระทั่งศูนย์กลางพายุอยู่ในแผ่นดินค่ำนี้ ทำให้ฝนตกกระจายเป็นบริเวณกว้าง ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนสะสม 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ (4 ม.ค.) ถึง 6 มกราคม 62 อาจมากถึง 300 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่หนักมาก
นายทองเปลว กล่าวว่า ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งในพื้นที่ลุ่มต่ำทุกจังหวัด นำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งในลำน้ำเพื่อพร่องน้ำออก เพิ่มพื้นที่รับน้ำ อีกทั้งได้เพิ่มการระบายน้ำออกอ่างเก็บน้ำทุกแห่งให้สอดคล้องกับผลคาดการณ์ปริมาณฝนและน้ำที่จะไหลลงอ่าง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มความถี่ในตรวจสอบขึ้นจากสถานการณ์ปกติ ยืนยันว่าทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีความมั่นคงแข็งแรงดี ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงในการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ขณะนี้ได้นำสะพานเบลี่ย์ไปสำรองไว้ในภาคใต้ 5 ชุด กรณีเส้นทางสัญจรขาด อีกทั้งนำระบบสื่อสารด้วยวิทยุไปติดตั้งทุกพื้นที่ เนื่องจากกรณีเกิดพายุลมแรงฝนตกหนักอาจทำให้การสื่อสารทางโทรศัพท์ขัดข้อง ทำให้ในพื้นที่ติดต่อกับสถานีแม่ข่ายที่ศูนย์เฝ้าระวังและบัญชาการได้ตลอดเวลา
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากพายุแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กระแสลมที่พัดแรงและปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่องอาจทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขัง ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จะระบายน้ำออกไปได้หมด ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีคลื่นจากพายุ (Storm Surge) สูง 2-3 เมตร และคลื่นในทะเลสูง รวมทั้งช่วงน้ำทะเลหนุนซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำออกทะเลบ้าง ได้ส่งเครื่องจักรไปเปิดปากแม่น้ำที่จะออกสู่ทะเลและขุดลอกสันดอนออก ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้นั้น ได้ตรวจสอบให้สถานีวัดน้ำฝนและน้ำท่าใช้งานได้สมบูรณ์ เพื่อส่งข้อมูลทางอุทกวิทยาตรวจวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำ นำมาใช้ในการวิเคราะห์คาดการณ์และการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมตามเวลาจริง ทำให้ทราบว่า พื้นที่ใดจะต้องเสริมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเข้าไปอีก หากมีฝนตกหนักเพื่อลดผลกระทบและใช้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย