กรุงเทพ ฯ 28 ธ.ค. – ก.ล.ต.ร่วมกับกรมบังคับคดี และสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินเพื่อชำระค่าปรับทางแพ่งและอาญา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ร่วมกับกรมบังคับคดีและสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับผู้กระทำความผิด เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และสามารถรวบรวมทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดหรือจำเลย มาชำระค่าปรับทางแพ่งหรือชดใช้เงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้ง 3 รวมทั้งการดำเนินการบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับในคดีอาญา เพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับมาใช้ค่าปรับอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมาย
“การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน การบังคับคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรม จะมีผลในเชิงการยับยั้งและป้องปรามการกระทำผิดในอนาคตได้ การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้ตลาดทุนเป็นแหล่งลงทุนและระดมทุนที่มีความน่าเชื่อถือ และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นายรพี กล่าว
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือว่าเป็นการบูรณาการการทำงานที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการบังคับคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันจะเป็นการเสริมสร้างความเป็นธรรม ความเชื่อมั่น และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมาย
นายชาตรี สุวรรณิน อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด มีภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีความสำคัญในการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29/1 การบังคับคดีกรณีผิดสัญญาประกัน การบังคับคดีแพ่งและคดีปกครองแทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่พนักงานอัยการรับดำเนินคดีให้ มีระบบฐานข้อมูลลูกหนี้ตามคำพิพากษา งานตรวจสอบสถานะและทรัพย์สิน โดยคำสั่งของพนักงานอัยการในการขอให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน ถือเป็นคำบังคับของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ตามที่พระราชบัญญัติองค์การอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 16 มาตรา 18 และมาตรา 23 กำหนดไว้ ผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 หรือมาตรา 169 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการพัฒนางานด้านการบังคับคดีนั้น มีความจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ดังนั้น การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่จะส่งผลให้การพัฒนางานบังคับคดีในคดีรักษาผลประโยชน์ของรัฐ การยับยั้งและปราบปรามผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในตลาดทุน ทำให้รัฐได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจจากการดำเนินการบังคับคดีอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป.-สำนักข่าวไทย