สธ.26 ธ.ค.–ปธ.บอร์ด อภ.เผยเร่งระดมนักกฎหมายหารือ ปลูกกัญชาเพื่อทำน้ำมันและสารสกัดจากกัญชา หลัง สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด คาดกัญชาต้นแรกปลูกได้ ก.พ.62 ส่วน อย.เร่งออกกฎหมายลูก 8 ฉบับ รองรับกัญชาเพื่อการแพทย์ คาดแล้วเสร็จมี.ค.62 ครอบคลุมการปลูกระดับวิสาหกิจชุมชน, วิจัย, นำเข้ายา ย้ำไม่ใช่เสรี กัญชายังอยู่ในยาเสพติดและต้องควบคุม ห้ามหิ้วมาจากต่างประเทศ
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) กล่าวว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ภาพใหญ่ถือว่ามีประโยชน์ที่จะได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ขอย้ำว่า การคลายล็อกครั้งนี้ไม่ใช่เสรี เพียงแต่เปิดทางให้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์ได้ แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องปัญหาสิทธิบัตรที่ต่างชาติมายื่นคำขอและก่อนหน้านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคยให้ข่าวว่าจะมีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่เข้าข่ายขัด พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ปรากฎว่าไบโอไทยมีการตรวจสอบและเปิดเผยว่าไม่มีการยกเลิกแต่อย่างไร เรื่องนี้จึงเกิดคำถามว่า ตกลงคืออะไรกันแน่ จึงมอบให้ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระดมทีมนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรกัญชาของ อภ. มาหารือร่วมกันว่า สรุปแล้วเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกเลิกสิทธิบัตรที่มีปัญหาต้องทำอย่างไรต่อไปเพราะต้องการความชัดเจน เนื่องจากเกรงว่าอาจขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตร ที่ระบุว่าห้ามยื่นจดว่ารักษาโรคหรือสารที่มาจากธรรมชาติ เนื่องจากบอร์ด อภ.มีมติเดินหน้าผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อทางการแพทย์ไปแล้วด้วยงบประมาณระยะสั้น10ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาใช้ทางการแพทย์เอง ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ครั้งแรกก่อนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เพราะตามโรดแมปต้องผลิตสารสกัด ซึ่งเป็นน้ำมันกัญชาออกมาได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 และเมื่อผลิตน้ำมันกัญชาได้ ตามโรดแมปของ อภ.ก็จะเดินหน้าสร้างโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม 130 ล้านบาทต่อไป
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (รองเลขาธิกากร อย.) จากนี้ อย.จะเร่งออกกฎหมายลูก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขตามมาอีกประมาณ 8 ฉบับเพื่อเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข พิจารณาประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2562 เบื้องต้นจะมีเรื่องการปลูกกัญชาต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หากเป็นเอกชนก็ต้องทำร่วมกับรัฐ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ โดยการปลูกจะต้องได้มาตรฐานการปลูกสมุนไพรจีซีพี (GCP) แต่กัญชาต้องมีการเพิ่มมาตรฐานขึ้นอีกเพราะอย่างที่ทราบว่ากัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษโดยเฉพาะกลุ่มโลหะหนัก
ทั้งนี้ การปลูกในพื้นที่ใดก็ต้องไปขออนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนพิจารณาอนุญาต ส่วนการใช้กัญชา ในแพทย์แผนไทยนั้น สามารถใช้ ได้ทุกส่วนตาม สูตรของการรักษาแพทย์แผนไทย แต่ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต้องไปออกหลักเกณฑ์มาให้ชัดเจนว่าใครใช้ได้บ้าง รวมถึงมีการอบรมการใช้
ส่วนเรื่องการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์จากกัญชาต้องควบคุม เนื่อง จากยังถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 ไม่ได้เปิดเสรี ต้องมีการควบคุมเหมือนมอร์ฟีน การนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในประเทศต้องได้ รับอนุญาต เช่น ผู้ป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์และนำเข้ามาในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้รักษาโรคตามระยะเวลาหนึ่ง หากหิ้วมาโดยไม่ขออนุญาต ไม่ว่าจะผสมในน้ำอัดลมหรือขนม จะถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล แต่ถ้าใครที่ครอบครองเพื่อจำหน่ายจะถือว่าผิดเต็มๆ มีโทษจำคุก 2-15 ปี .-สำนักข่าวไทย