ขอนแก่น 24 ธ.ค. – ผู้ว่าธปท. ย้ำประชาชนไม่ต้องกังวลว่าภาระหนี้สินจะเพิ่ม แบงก์ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงตาม กนง. ชี้ดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อธุรกิจควรปรับขึ้นก่อน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาสื่อมวลชนประจำปี 2561 ที่จังหวัดขอนแก่น ว่า ประชาชน ไม่ต้องวิตกกังวลว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นหรืออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้น หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 เพราะสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีอยู่สูง ธนาคารพาณิชย์จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดกับประชาชน ทั้ง MLR MOR และ MRR หรือหากจะมีการขึ้นดอกเบี้ยควรปรับขึ้นเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่สูงมาก
ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นผู้กู้ประมาณร้อยละ2 ใน 3 ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดซึ่งเป็นดอกเบี้ยคงที่ คือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ดังนั้นดอกเบี้ยเงินกู้บ้านกับสินเชื่อส่วนบุคคล จึงไม่มีการปรับขึ้น ประชาชนจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้
ในฝั่งของผู้ออมเงิน จะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดการเงินระยะสั้น เช่นกองทุนตราสารหนี้ จะปรับผลตอบแทนขึ้นทันที ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำทำให้ผู้ออมได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ส่วนที่มีการกังวลว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับทิศทางเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่าการตัดสินนโยบายการเงิน จะพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกครั้งที่มีการประชุม
นายวิรไท กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4 ลดลงจากปีนี้ที่โตร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นการเติบโตที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยบวกมาจากการบริโภค การจ้างงาน และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้าซึ่งจะเกิดผลชักจูงให้ภาคเอกชนมาลงทุนต่อเนื่องโดยการลงทุนถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะหากการลงทุนติดเครื่องจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
“ แม้จีดีพีเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะลดลงบ้าง แต่การชนโดยเฉพาะฐานะต่างประเทศของไทยยังดีมีเสถียรภาพอย่างไรก็ตามต้องไม่ชะล่าใจต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ลดจุดเปราะบางในประเทศ” นายวิรไท กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง มีทั้งผลบวกและผลลบต่อการส่งออกของประเทศไทยโดยยังมีความไม่แน่นอนที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด ความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจจีนที่มีการปรับโครงสร้างหลายอย่างโดยเฉพาะปัญหาหนี้ธุรกิจจีนที่จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างประเทศปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง การประท้วงรัฐบาลในยุโรป รวมถึงการลงมติที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป ( Brexit).-สำนักข่าวไทย