กรุงเทพฯ 21 ธ.ค. – รมว.เกษตรฯ ย้ำปี 2562 ยังคงเดินหน้านโยบายตลาดนำการผลิต ใช้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฐานในการวางแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ เน้นการทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและมีอำนาจต่อรองราคาขาย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการสัมมนาเรื่องภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 “โลกเปลี่ยน เกษตรปรับ เกษตรกรปรับเปลี่ยน” โดยกล่าวว่า จากการนำนโยบายตลาดนำการผลิตมาเริ่มต้นใช้ปี 2561 พบว่า สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำได้หลายรายการ สำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร (สศก.) ได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้มาเป็นฐานข้อมูลในการผลิตของประเทศ เช่น การลดพื้นที่ทำนาปรังในพื้นที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณข้าวที่เกินความต้องการของตลาด ทำให้ราคาตกต่ำและส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนาแทน เนื่องจากข้าวโพดยังเป็นวัตถุดิบทำอาหารสัตว์ยังไม่เพียงพอ ไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน ดังนั้น การสนับสนุนปลูกข้าวโพดจึงส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นกว่าการทำนาปรัง ลดการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ อีกทั้งยังสามารถรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ เนื่องจากลดปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงส่งเสริมการทำเกษตรทั้งด้านการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมงแบบรวมกลุ่ม ทั้งรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ รวมทั้งมีอำนาจต่อร่องราคาขาย ไม่ให้ถูกกดราคาแบบต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายปี 2564 จะมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 4.7 ล้านไร่ เหลือเพียง 200,000 ไร่จะครบตามเป้าหมาย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะขยายพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเกษตรกรสนใจ เพราะรายได้จากผลผลิตเกษตรอินทรีย์สูงกว่าเกษตรเคมีร้อยละ 30 โดยแนวทางขยายตลาดทำโดยการจับคู่ค้าเข้ากับซุปเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด ซึ่งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุกกลุ่มมีคู่ค้ารับซื้อผลผลิตทั้งหมดแล้ว จึงนับว่า ประสบความสำเร็จมาก
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีสินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่ราคาตกต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งเสริมการผลิตไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาดผลผลิตจึงล้นตลาด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยังคงแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น ยางพารา ปาล์ม สับปะรด เป็นต้น ดังนั้น จึงได้จัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ ให้ทำเกษตรแต่ละชนิดในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจึงจะได้ผลผลิตต่อไร่ดีและต้นทุนต่ำ ลดปัญหาผลผลิตล้นเกิน เกษตรกรจะขายได้ในราคาดี ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งจะประหยัดงบประมาณในการใช้ชดเชยราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาบางปีใช้หลายแสนล้านบาท ดังนั้น ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรจึงมีความสำคัญมากที่จะใช้ในการวางแผนการผลิต เพื่อให้สมดุลกับความต้องการของตลาด
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสาขาประมงหดตัวลง ซึ่งปัจจัยบวกเป็นผลจากกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยหลักการตลาดนำการผลิตควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้ดำเนินนโยบายสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งปริมาณน้ำและสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรทำให้พืชส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีและมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยลบ เกิดจากช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวนาปีที่สำคัญประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง ส่วนปี 2562 ยังคงขยายตัว คาดกรอบทั้งปีโตร้อยละ 2.5 – 3.5.-สำนักข่าวไทย