อย.20ธ.ค.-อย.ฟันโฆษณา MAOLO อวดอ้างผ่านเว็บไซต์ และสื่อเฟซบุ๊ก ชื่อ อาหารเสริมเพิ่มขนาดน้องชายให้แข็ง ใหญ่ ยาว อึด ทนนาน อีกทั้งยังตรวจพบยาแผนปัจจุบันที่มีส่วนผสมของซิเดนาฟิล ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษและเป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เตือนภัยระวังอย่าหลงเชื่อซื้อมารับประทาน อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (รองเลขาธิการ อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร MAOLO อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านเว็บไซต์ และสื่อเฟซบุ๊ก ชื่อ อาหารเสริมเพิ่มขนาดน้องชายให้แข็ง ใหญ่ ยาว อึด ทนนาน นั้น อย.รุดตรวจสอบข้อเท็จจริงพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านเฟซบุ๊ก ชื่ออาหารเสริมเพิ่มขนาดน้องชายให้แข็ง ใหญ่ ยาว อึด ทนนาน เว็บไซต์ www.maolotopproducts.weebly.com และเฟซบุ๊กชื่อ Get Inspired Thailand ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับในความผิดฐานโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่าย และสถานที่ผลิต ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฏว่าตรวจวิเคราะห์พบยาแผนปัจจุบันซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งจัด เป็นยาควบคุมพิเศษ เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย และพิจารณายกเลิกเลขสารบบอาหาร รวมถึงพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผลิตในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ จึงขอเตือนภัยผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะสารซิลเดนาฟิลเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด มีข้อควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับและไต ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ อาการข้างเคียงจะเป็นอันตรายไปทำลายระบบความผิดปกติของระบบประสาทตาถึงขั้นตาบอดได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการเจ็บปวดที่อวัยวะเพศ ความดันโลหิตสูงและเป็นภัยร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
รองเลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า ก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฉุกคิดสักนิดด้วยการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านแอพพลิเคชั่น “ตรวจเลข อย.”ซึ่งสามารถสแกนตรวจสอบเลข อย.ด้วยกล้อง เสียงและตัวอักษร หากไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ให้ส่งตรวจสอบที่ อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดและสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนที่ทางสายด่วน อย.1556 .-สำนักข่าวไทย