ธปท. 19 ธ.ค. – กนง.มีมติไม่เอกฉันท์ 5:2 เสียง ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75 % เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน พร้อมลดจีดีพีปีนี้เหลือโต 4.2% ส่วนปีหน้าโต 4%
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) กล่าวว่า การประชุม กนง.ครั้งสุดท้ายของปี 2561 คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่ง กนง.ได้คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม 28 ครั้งที่ผ่านมา หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง แต่เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ในอนาคต นอกจากนี้ ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีน้อยลง เพราะเศรษฐกิจขยายตัวระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สร้างความเปราะบางให้กับระบบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะประชาชนมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้นและประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยลดความความเสี่ยงดังกล่าวได้
ส่วนธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีตามมติ กนง.หรือไม่นั้น คณะกรรมการคาดหวังให้ดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินและตลาดพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกัน แต่ยอมรับว่าครั้งนี้ไม่ได้เหมือนในอดีต เพราะที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยตอบสนองทันที แต่ครั้งนี้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยมาก และคาดว่าไม่ได้ปรับขึ้นต่อเนื่อง เพราะการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะพิจารณาตามสภาวะแวดล้อม ข้อมูลเศรษฐกิจ และความเสี่ยงครั้งต่อครั้ง ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากธนาคารขึ้นดอกเบี้ยตามอาจจะมีผลกระทบกับผู้กู้ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1ใน 3 ของลูกหนี้ทั้งหมด แต่ผลกระทบจะไม่มากนัก เพราะดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นเล็กน้อย และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจระดับปัจจุบันสามารถรับได้
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการยังได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 4.2% จากเดิม 4.4% ส่วนปี 2562 โต 4% จากเดิม 4.2% เหตุส่งออกปีนี้โตลดลงเหลือ 7% จากเดิม 9% และปี 2562 โต 3.8% จากเดิม 4.3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และแนวโน้มราคาน้ำมันต่ำลงมาก
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2% ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ซึ่งจะทิ้งช่วงนานจากการปรับขึ้นครั้งนี้และถือว่าค่อยข้างน้อย เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 เติบโต 4.1% ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 4.3% ไม่ได้เป็นการเติบโตร้อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นการชะลอตัวแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเพิ่มอีกในช่วงต้นปี 2562 จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจทวีความเข้มข้นขึ้น โดยอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมีนาคม 2562 จากเดิม 10% ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 24 กันยายนที่ผ่านมา หากการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันได้ถึงขั้นที่จะขจัดความเสี่ยงสงครามการค้า หรือความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีในอนาคตออกไป
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลงต่ำกว่า 1% อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่ง Krungthai Macro Research คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 1.1% เท่านั้น ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเกินไป สะท้อนรายได้ของภาคธุรกิจและรายได้ของแรงงานไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อภายในประเทศ. – สำนักข่าวไทย