กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – ก.อุตฯ ประสานความร่วมมือ Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพอิสราเอล เตรียมก่อตั้งอินโนสเปซ (ประเทศไทย) ครั้งแรกไตรมาสแรกปี 2562 เพื่อเป็นแพลทฟอร์มกลางครบวงจร ผลักดันกลุ่มสตาร์ทอัพไทยโกอินเตอร์ เน้นเป้าเกษตรอุตสาหกรรม หวังขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงความร่วมมือภาคเอกชนรายใหญ่ไทยและต่างประเทศที่จะร่วมกันลงทุน 500 ล้านบาท ก่อตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ InnoSpace (Thailand) Co., Ltd. โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมดำเนินการและจัดตั้งโครงการภายในเดือนมกราคม 2562 นับเป็น National Startup Platform ซึ่งเป็น Platform กลางช่วยส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยครบวงจร และเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน การทำงานจะมีกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะสาขาการเกษตรรากฐานของเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ และยังช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและสู่สากล เร็วขึ้นผ่านการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หนุนด้านความรู้ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีลักษณะ Open innovation
สำหรับผู้ถือหุ้นอินโนสเปซฯ เช่น ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำกัด บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเพื่อให้องค์กรเชื่อมโยงและรองรับนโยบายของภาครัฐได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอินโนสเปซไทยแลนด์เชิงนโยบาย เพื่อประสานขับเคลื่อน และเติมเต็มการดำเนินงาน ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริม และพัฒนาสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ คือ Hong Kong CyberPort และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพประเทศอิสราเอล เพื่อขยายและเชื่อมต่อระบบนิเวศของไทยสู่สากล
สำหรับที่ตั้งโครงการจะอยู่ในพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จังหวัดระยอง และจะมีเครือข่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ ITC กล้วยน้ำไท และศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ CMU STeP มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และหลังจากนี้จะเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือการดำเนินงานโครงการอินโนสเปซไทยแลนด์ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือ 3 รูปแบบ คือ พันธมิตรด้านการบ่มเพาะ (Incubation Partner) พันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) และพันธมิตรด้านการลงทุน (Investment Partner) อาทิ บริษัทเอกชนรายใหญ่ สวทช. และสถาบันการศึกษา รวมถึง Hong Kong Cyberport / หน่วยงานส่งเสริม Startup ประเทศอิสราเอล /Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA). -สำนักข่าวไทย