อนุสาวรีย์ชัยฯ 18 ธ.ค.-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยตั้งแต่ปี 48 ถึงปัจจุบันทำคดีช่วยเหลือผู้บริโภค 577คดี มากสุดคือคดีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถสาธารณะ ส่วนปี 61 มี 26 คดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 111 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องพรรคการเมืองออกกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถป้องกันปัญหาผู้บริโภคได้
ผู้บริโภคในคดีสำคัญหลายคดี ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการดำเนินการช่วยเหลือด้านคดีของศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมูนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้ให้ความช่วยเหลือดำเนินคดีจำนวน 577 คดี โดยเป็นคดีช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากที่สุดจำนวน 207 คดี คดีผู้บริโภคเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาต่างๆจำนวน 181 คดี คดีผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจประกันจำนวน 61 คดี และคดีปกครอง คดีแบบกลุ่มคดีอาญา คดีละเมิดทั่วไปอีกรวม 128 คดี
โดยปี 2561ให้ความช่วยเหลือด้านคดี จำนวน 26 คดี ซึ่งมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วจำนวน 17 คดี รวมเป็นมูลค่าความช่วยเหลือทั้งสิ้น 111,155,797 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการเยียวยา จำนวน 23 ล้านบาท และกรณีผู้บริโภคถูกฟ้องคดีแล้วไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน87ล้านบาท โดยมี1คดี ที่ศาลไม่อนุญาตให้ฎีกา
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากทั้งหมด 26 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีได้รับความสนใจจากประชาชน โดยคดีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบการ เช่น คดี แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ,คดีรถยนต์เซฟโรเลตชำรุดบกพร่อง ,คดีเรียกเงินคืนจากธนาคารไทยพาณิชย์, คดีรถตู้โดยสารจังหวัดจันทบุรี
คดีผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการฟ้องคดี เช่น คดีโรงพยาบาลวิภาวดีฟ้องเรียกเงินตามสัญญารับสภาพหนี้, คดีบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ฟ้องเรียกเงินส่วนต่างจาการขายทอดตลาด ,คดีได้รับความเสียหายจากการบริการทางการ แพทย์, คดีบริษัทมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อปิดปากผู้บริโภค
คดีสาธารณะ เช่น คดีซอยร่วมฤดี คดีประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์ สินของ ปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด , คดีกระทะโคเรียคิงส์ คดีเครื่องสำอางเพิร์ลลี่ คดีปัดเศษค่าโทรศัพท์วินาที (ทรู/ดีแทค/เอไอเอส) ,คดีอื่นๆ เช่น คดีเสื้อยืดคายมาจิ คดีตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น
โดยคดีที่ฟ้องแล้วผู้บริโภคชนะคดี เช่น กรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 2ม.ค.2560 มีผู้เสียชีวิต 14ราย ซึ่งคดีนี้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาความเสียหายเชิงลงโทษและเยียวยาผู้เสียหายแล้วจากศาลจังหวัดจันทบุรี,คดีที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องดื่มระเบิดใส่ผู้บริโภค ซึ่งนอกจากผู้เสียหายได้รับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินแล้ว ยังมีการกำหนดสงวนสิทธิ์การรักษาพยาบาลในอนาคตถึง 5 ปี รวมถึงชนะคดีในกรณีผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นจำเลยจากการใช้สิทธิ์ร้องเรียนของตนเอง เช่น คดีบริษัทมาสด้า เซลล์(ประเทศไทย)จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์รุ่นมาสด้า2 จำนวน 29 คน เรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
โดยเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบกับทางบริษัทเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริตและให้ชดใช้ค่าทนายให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000บาท และคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถูกบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก็อตจิ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนว่า เสื้อลายคายมาจิ เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิฯ และจัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องพลังงานในประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า และคดีนี้ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปตท.ฎีกา
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีที่ดำเนินการฟ้องร้องและคดีถึงทีสุดแล้ว ยังไม่สามารถบังคับคดีได้ เช่น คดีฟ้อง กทม.ที่อนุญาต ให้มีการสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายในซอยร่วมฤดี โดยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการรื้อถอนใดๆ , คดีที่มูลนิธิฯฟ้องหน่วยงานรัฐ บขส. และขสมก.ในคดีรถอุบัติเหตุจากโดยสารสาธารณะ มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหลายกรณี เช่น กรณีรถตู้โดยสารไม่ประจำทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดระยอง เกิดอุบัติเหตุชนรถพ่วง มีผู้เสียชีวิต ซึ่งแม้ว่ามีผลคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดแแล้ว ผู้บริโภคยังไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย จะต้องดำเนินการบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินจึงจะได้รับเงินชดเชยความเสียหายตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นภาระกับผู้บริโภคทั้งค่าใช้จ่ายและระยาเวลาที่จะต้องรอนานกว่าจะได้มาซึ่งความเป็นธรรม
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า อยากเรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรคให้มีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศให้มีสภาผู้บริโภคแห่งชาติหรือสภาพลเมืองเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวแทนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภคและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกระดับ
นอกจากนี้ทุกพรรคการเมืองควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน เช่น เพิ่มงบบัตรทอง ปรับระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียว สนับสนุนให้ประชาชนมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เช่น บำนาญผู้สูงอายุ บำนาญประชาชน เรียนฟรีทั้งในระบบและนอกระบบโดยผ่านการจัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดินในปัจจุบัน .-สำนักข่าวไทย