รพ.จุฬาฯ 17 ธ.ค.-คณะทำงานศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯชี้สถานการณ์โรคติดเชื้อโดยเฉพาะจากแมลงและสัตว์ มีแนวโน้มจะทำให้คนไทยเปราะบางมากขึ้น ยิ่งซ้ำเติมด้วยการได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัยปนเปื้อน ด้วยสารเคมี และให้มีการบูรณาการเฝ้าระวังป้องกันโรคในทุกส่วนของภาครัฐ
นพ. ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยระหว่างนำทีมเสวนาวิชาการ” ตอบโจทย์สังคมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ Disease X โรคอะไรหว่า?ลึกลับ อำพราง โรคติดเชื้อ ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีอาการของคนไข้ที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน มาหาหมอเพิ่มมากขึ้นทั้งปอดบวม อักเสบ ไตวาย เกินครึ่งมีอาการติดเชื้อ ความยากลำบากในการรักษาอยู่กับความซับซ้อนของตัวโรค แม้เกิดจากเชื้อตัวเดียวกัน อาการยังแปรเปลี่ยนรุนแรงขึ้นจากพื้นฐานของผู้ป่วยเอง บางครั้งอาการคล้ายโรคติดเชื้อแต่กลับเกิดจากภาวะน้ำเหลืองเสียทำให้เกิดสมองอักเสบ หรือเป็นอาการสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่รักษาได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเปราะบางคือการได้รับอาหารที่ไม่ ปลอดภัยปนเปื้อนสารเคมีเจือปนสารพิษยาฆ่าแมลง
สำหรับคณะทำงานมีทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าระบบนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยต่างๆและกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงกลาโหม ร่วมมือกันศึกษาปัญหาโรคติดเชื้อในมนุษย์ คน โดยพบว่ามีต้นตอเชื้อที่ซ่อนในสัตว์ป่าหรือเป็นสัตว์ในเมือง เช่น หนูที่นำเชื้อเล็บโตสไปโรซิส เช่น ค้างคาว ยุง เห็บ ไร ริ้น แมลง จึงได้ทำการตั้งรับกับเชื้อโรคต่อไป ความร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้คณะทำงานสามารถนำความรู้สร้างมาตรการในการควบคุมโรค หลังจากที่ได้พบเชื้อ และบูรณาการในการพัฒนาการรักษา โรคติดเชื้อได้หลายโรค เช่น สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทดลองและสุนัขได้สำเร็จ สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรค MERS รายแรกของไทยได้รวมทั้งอีโบล่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่น fever app พื้นที่ที่อาจเกิดโรค ติดเชื้อจากสัตว์ เช่น แมลง ค้างคาวตามแนวชายแดน ให้นักท่องเที่ยวหรือทหารได้ใช้ในการลงพื้นที่ชายแดนเป็นต้น
นพ. ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า โรคอุบัติใหม่ที่คณะทำงานเฝ้าระวังคือไข้นิปปาห์ ที่มีค้างคาวเป็นพาหะนำโรค เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม อากาศมีความเหมาะสมที่จะทำให้เชื้อไวรัสนี้ เติบโตในค้างคาวและอาจแพร่จากสัตว์สู่คนได้ไม่ยาก
จากงานวิจัยเหล่านี้ และจากการพบผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งระบบการรักษาโรคของคนไทย ในสิทธิหลักประกันต่างๆ ยังไม่สามารถตอบโจทย์การรักษาโรคได้ครอบคลุมครบถ้วนทำให้คณะทำงานฯ อยากสะท้อนปัญหาไปให้ภาครัฐในทุกหน่วยงานว่า ควรช่วยกันพัฒนาการ บูรณาการเฝ้าระวังป้องกันรักษาโรค รวมทั้งให้การสนับสนุนบุคลากรในหน่วยงานสาธารณสุขให้มีศักยภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อรักษาคนไข้อาการซับซ้อนให้ได้มากขึ้น
ขณะที่ในส่วนภาครัฐที่มีหน้าที่ปกป้องภาวะอันตรายที่อาจเกิดจากสารเคมี ที่มีผลต่ออาหารของประชาชนก็ควรทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง เพื่อช่วยให้ประชาชนปราศจากความเสี่ยง สร้างเกราะคุ้มครองตัวเองเป็นปราการที่สำคัญก่อนจะพบกับเชื้อที่มีอันตรายเพิ่มมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย