กทม. 14 ธ.ค. – ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างจำนวนหลายล้านคน รายละเอียดของสิทธิประโยชน์จะเป็นอย่างไร และกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อใด ติดตามจากรายงาน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หลังจากที่รัฐบาลเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับเดิมปี 2541 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ทำให้กฎหมายบางข้อไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองลูกจ้าง ถือเป็นการช่วยยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อดีของกฎหมายฉบับใหม่มีหลายกรณี เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา อาทิ ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยที่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้ กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือนิติบุคคล ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับลูกจ้าง
ในส่วนของลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ สามารถลาคลอดได้ทั้งก่อนและหลังคลอด รวม 98 วัน จากเดิมที่ลาคลอดได้เพียงอย่างเดียว 90 วัน ส่วนอัตราค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จากเดิมอยู่ที่ 5 อัตรา เป็น 6 อัตรา โดยส่วนที่เพิ่มมานั้น ให้ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน
นอกจากนี้ ให้ลูกจ้างชายหญิงที่มีงานเท่าเทียมกัน ต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ
ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ได้รับเสียงชื่นชมจากหน่วยงานภาคแรงงานต่างๆ ว่าคณะกรรมาธิการฯ สามารถขับเคลื่อนให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน สนช.ได้ ทำให้ลูกจ้างกว่า 10 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แม้ที่ผ่านมามีความวิตกกังวลอยู่บ้างว่ากฎหมายนี้อาจถูกชะลอออกไปก่อน ต้องขอบคุณรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และหวังว่าจะทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. – สำนักข่าวไทย