กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – เปิดรายการสิทธิประโยชน์ “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” สปสช. สนับสนุนการจัดบริการดูแลคนไทยครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มวัย ย้ำไม่จำกัดแค่ผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น คนไทยทุกคน ทุกสิทธิประกันสุขภาพ ทั้งผู้ประกันตน ข้าราชการ และผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพอื่นๆ มีสิทธิเข้ารับบริการได้ ตามนโยบายรัฐบาล มุ่งป้องกันความเจ็บป่วย ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สู่ประชากรคุณภาพ
กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด มีสิทธิประโยชน์รับบริการดังนี้ ทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์และประเมินความเสี่ยง ตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ ตรวจเลือดคัดกรองภาวะโลหิตจาง ซิฟิลิส เอชไอวี ตับอักเสบบี ธาลัสซีเมียและดาวน์ ตรวจปัสสาวะ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ตรวจช่องปากและฟัน ขัดและทำความสะอาดฟัน รวมถึงการขูดหินน้ำลาย ประเมินสุขภาพจิต ตรวจหลังคลอดและคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสมุดบันทึกสุขภาพ และในปีนี้ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองซิฟิลิสและธาลัสซีเมีย ในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์
กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 0-5 ปี มีสิทธิประโยชน์รับบริการดังนี้ ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ตับอักเสบบี บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน โปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า หัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้หวัดใหญ่ และไข้สมองอักเสบเจอี ตรวจเลือดคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ (โรคเอ๋อ) ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อเอชไอวี ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อติดตามการเจริญเติบโต ตรวจคัดกรองพัฒนาการ ตรวจช่องปากและฟัน เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาไทรอกซิน ป้องกันภาวะพร่องไทรอยด์ ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก ยาต้านไวรัสเอชไอวี สมุดบันทึกสุขภาพ/บันทึกพัฒนาการ และแว่นตา หากมีภาวะสายตาผิดปกติ
กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี มีสิทธิประโยชน์รับบริการ ดังนี้ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก วัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (สำหรับนักเรียนหญิง ป.5) ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เพื่อติดตามการเจริญเติบโต ตรวจเลือดคัดกรองภาวะโลหิตจาง เอชไอวี ตรวจช่องปากและฟัน ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคัดกรองสายตาและการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ สุรา และสารเสพติด เคลือบฟลูออไรด์และหลุมร่องฟัน การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก แว่นตา หากมีภาวะสายตาผิดปกติ การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิด การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ
กลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 25-59 ปี มีสิทธิประโยชน์รับบริการ ดังนี้ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เอชไอวี คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ สุรา และสารเสพติด คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (50-70 ปี) เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิด ให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ
กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิประโยชน์รับบริการ ดังนี้ ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL) ตรวจวัดดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เอชไอวี คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง คัดกรองโรคซึมเศร้า ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (50-70 ปี) การเคลือบฟลูออไรด์ ให้ความรู้ออกกำลังกาย และฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อม ให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ
“สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ผ่านมา สปสช.ได้บริหารจัดการให้เกิดการเข้าถึงบริการ ควบคู่กับการพัฒนาสิทธิประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ มีการเพิ่มเติมบริการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและธาลัสซีเมีย ให้กับสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ต้องย้ำว่า แม้ว่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง แต่ก็ไม่ได้จำกัดให้บริการแค่ผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่คนไทยทุกสิทธิสามารถใช้สิทธินี้รับบริการได้ ทั้งผู้ประกันตน ข้าราชการ และผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น เพื่อมุ่งป้องกันภาวะความเจ็บป่วย และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี สู่ประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทุกกลุ่มวัยสามารถเช็กการบริการสร้างเสริมสุขภาพได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ไปที่กระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) หรือแอปฯ เป๋าตัง ไปที่กระเป๋าสุขภาพ เพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ท่านมีสิทธิได้รับ ซึ่งแต่ละคนจะต่างกันตามช่วงอายุของท่าน
วิธีการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพ 1. ติดต่อตรงที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือสถานพยาบาลประจำตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลที่ท่านไปใช้สิทธิเป็นประจำ 2. ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. หรือแอปฯ เป๋าตัง ไปที่กระเป๋าสุขภาพ เพื่อดูสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เฉพาะพื้นที่ กทม. ขณะนี้ สปสช.ได้นำร่อง ท่านสามารถเลือกสถานพยาบาลที่จะไปใช้บริการได้ โดยนัดหมายหรือจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนไปใช้สิทธิที่หน่วยบริการ
หากมีข้อมูลสงสัยเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso. – สำนักข่าวไทย