กรุงเทพฯ 28 ก.ย.- สปสช.ร่วมรณรงค์ “28 ก.ย. วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล” บรรจุสิทธิประโยชน์ดูแลหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา จากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งวางแผนครอบครัว-คุมกำเนิด เผยปี 2566 เดินหน้าแจกยาคุมฉุกเฉินที่ร้านยา
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดและอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะต่อสังคมไทย ซึ่งในกรณีผู้หญิงที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ด้วยเหตุของการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งจาก สุขภาพกาย สุขภาพจิต และทางสังคม ที่ผ่านมาจึงมีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบภาวะของการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยอันนำไปสู่อันตรายและเสียชีวิตได้
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดย สปสช.ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงบรรจุ “การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” เป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ รวมทั้งยังเป็นการจัดบริการต่อเนื่องภายหลังจากตรวจพบความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรับบริการยุติการตั้งครรภ์นี้ ต้องเป็นไปตามตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 และข้อบังคับแพทยสภา ที่เป็นการให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Misoprostol 200 mcg + Mifepristone 200 mg ชนิด combination pack) ที่หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา” กับกรมอนามัย ซึ่งมีจำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด หรือบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีศัลยกรรม เช่น การใช้กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA), การใช้เครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้า (Electric Vacuum Aspiration: EVA) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพบริการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลการบริการเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปีงบประมาณ 2565 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล 12,544 ราย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ที่ผ่านมา สปสช.ยังได้จัดสิทธิประโยชน์บริการ อาทิ บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แบบชั่วคราว โดยการให้บริการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวในหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ บริการยาคุมฉุกเฉิน ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด
โดยในส่วนของบริการยาคุมฉุกเฉิน ในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช.เพิ่มบริการยาคุมฉุกเฉินที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการการป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แบบกึ่งถาวร เป็นการให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ในหญิงไทยวัยเจริญพันธ์ทุกสิทธิการรักษา ที่อยู่ในภาวะหลังคลอด หรือหลังแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด ได้แก่ บริการห่วงอนามัย และบริการยาฝังคุมกำเนิด
“ทุกๆ วันที่ 28 กันยายนของทุกปี นานาชาติจัดให้เป็น “วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ รวมไปถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น โดย สปสช. พร้อมร่วมมือกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว.-สำนักข่าวไทย