กรมควบคุมโรค 12 ธ.ค.-กรมควบคุมโรค เผยปี 62 ต้องเฝ้าระวัง 3 โรคติดต่อ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ คาดป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลง “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ.2562” เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ โดยโรคติดต่อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 62 และต้องเฝ้าระวังเข้ม มี 3 โรค คือ
1.โรคไข้หวัดใหญ่ แม้จากข้อมูลในปี 61 (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 61) พบ 1.66 แสน ราย เสียชีวิต 38 ราย ลดลงหากเทียบกับปี 60 ที่มีผู้ป่วยเกือบ 2 แสนราย และส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดิม เช่น H3N2 และ H1N1 แต่จากข้อมูลข้างต้น อาจคาดการณ์ว่าปี 62 จะพบผู้ป่วยสูง 1.77 แสนราย ซึ่งใกล้เคียงกับปี 61 โดยพบจำนวนผู้ป่วยสูงในช่วงต้นปี (ม.ค.-มี.ค.) พบ 1.3-1.5 หมื่นราย และช่วงฤดูฝน (ก.ค.-พ.ย.) ประมาณ1.5 -2.5 หมื่นราย รุนแรงน้อยกว่า ปี 60 เล็กน้อยและคาดเป็นเชื้อชนิด H1N1 ชนิดเดียวกับวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนปีนี้ ซึ่งยังไม่พบสายพันธุ์ บี แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะมีผลต่อจำนวนผู้ป่วยและความรุนแรง
2.โรคหัด โดยปี 61 พบระบาดมากในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน (ส.ค.-ต.ค.) ป่วย 5,442 ราย เป็นคนไทย 3,701 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 4 ปี ที่รับวันซีนไม่ครบ คิดเป็นร้อยละ 30 รองลงมาคือคนวัยทำงาน 20-29 ปี ที่อยู่ในเรือนจำ หรือโรงงาน โดยจะพบมากใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากยังคงมีความเข้าใจผิด เรื่องการรับวัคซีนไม่ใช่ฮาลาล และปัญหาด้านโภชนาการพื้นฐาน จึงทำให้พบผู้ป่วยในพื้นที่นี้มาก ยืนยัน วัคซีนหัดเป็นฮาลาลผ่านการตรวจสอบของ อย.และคาดการณ์ว่าในปี 62 หากมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มแข็งให้วัคซีนได้ตามเป้าหมายคือร้อยละ 95 ของทุกพื้นที่ คาดว่าจะมีผู้ป่วยเหลือเพียง 1,003 ราย และจำกัดให้อยู่ที่ 60-70 รายต่อปี ให้ได้ภายในปี 63 นี้ ชี้โรคหัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันให้ครบ 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง
และ 3 .โรคไข้เลือดออก ปี 61 (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561) พบผู้ป่วย 7.87 หมื่นราย เสียชีวิต 105 ราย สำหรับ ปี 62 คาดมีผู้ป่วยสูงขึ้น 9.42 หมื่นราย และสูงขึ้นในเดือนเมษายน และสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม คาดว่าจะมีอำเภอเสี่ยงสูงใน 136 อำเภอจาก 928 อำเภอ (ใช้เกณฑ์การประเมินจากพื้นที่ป่วยซ้ำซากและความรุนแรงของการเกิดโรคในปีปัจจุบัน)
ทั้งนี้ สำหรับโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ คือ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลพบมากกว่าช่วงอื่น โดยปี 61 พบบาดเจ็บแล้ว 2.7 หมื่นคน เสียชีวิต 495 ราย สาเหตุหลักมาจากแอลกอฮอล์ ร้อยละ 27.8 และพบร้อยละ 80 เป็นมอเตอร์ไซค์ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คาด ปี 62 ใกล้เคียงปี 61 อาจพบบาดเจ็บสูงถึง 2.8 หมื่นราย เสียชีวิต 480 ราย โดยเฉพาะในช่วง 7 วันอันตราย ของเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์อาจพบมาก
นอกจากนี้ ยังมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย.-สำนักข่าวไทย