กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. – “กฤษฏา” เร่งเสนอสำนักนายกฯ แก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อครุภัณฑ์มีส่วนผสมยางพาราจากในประเทศเท่านั้น รวมทั้งเร่งออกแบบก่อสร้างและสูตรทำถนนยางพารา 11 ธันวาคมนี้
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัทผู้ผลิตแปรรูปยางพารา 8 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องนอน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ท่อยาง-สายยาง สายพานลำเลียง รวมทั้งบริษัทผลิตล้อยางรถยนต์ที่มีผู้ประกอบการเป็นคนไทย โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือรับซื้อน้ำยางสด ยางแผ่น และยางแท่งจากสถาบันการเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งเห็นด้วยที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาราคายางตกต่ำด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศ โดยเริ่มจากหน่วยงานรัฐ แต่ผู้ประกอบการระบุว่ามีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ที่จะต้องเลือกรายที่เสนอราคาต่ำสุด โดยต้นทุนผลิตสินค้ายางพาราไทยสูงกว่าจีน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต้องจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์จากผู้ประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากจีนแม้ราคาถูก แต่คุณภาพต่ำกว่าของผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทย
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้รับข้อเสนอไปหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปรับแก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ โดยอาจจะประกาศกำหนดครุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยางพาราว่า ต้องจัดซื้อจากยางพาราในประเทศ โดยมอบหมายการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปจัดทำรายการครุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากยางพารา เพื่อส่งให้สำนักนายกนายรัฐมนตรีจัดทำประกาศระเบียบจัดซื้อจัดจ้างออกมาใหม่โดยเร็ว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเสนอให้ขยายมาตรการช้อปช่วยชาติจากช่วงก่อนปีใหม่ไปถึงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี เนื่องจากประชาชนจับจ่ายซื้อของกันมาก รวมถึงเดินทางไกลทั้งช่วงปีใหม่และสงกรานต์ อาจเพิ่มยอดใช้ยางได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทผลิตล้อยางระบุว่าซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรปีละ 2,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3 ของยางพาราที่ใช้ทั้งหมด แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการรณรงค์ใช้ยางเพื่อชาติ เปลี่ยนล้อยางและช้อปเพื่อชาติ ทำให้ความต้องการล้อยางมากขึ้น จึงสั่งซื้อยางจากสหกรณ์เพิ่มขึ้น 2,000 ตันภายใน1 เดือน
นายกฤษฎา กล่าวว่า ราคายางวันนี้ที่ตลาดต่างประเทศทุกแห่งปรับเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ สวนทางกับดัชนีดาวโจนส์ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการเพิ่มใช้ยางในไทย ทำให้ตลาดกังวลสตอกยางโลกจะลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตยางคงที่ แต่รัฐบาลไทยส่งเสริมการใช้มากขึ้น จึงส่งผลต่อราคาตลาดโลก
ส่วนข้อกังวลของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น คณะกรรมการสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ร่างหนังสือจะเสนอนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เร่งโครงการทำถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบ 80,000 แห่งทำถนนอย่างน้อย 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยระบุว่า ขอให้ อปท. รับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง ไม่ใช่รับซื้อน้ำยางข้นจากโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนประธานเครือข่ายชาวสวนยางทุกจังหวัดไปคัดค้านแบบก่อสร้างและสูตรการทำถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราที่ใช้น้ำยางข้นมาเป็นส่วนผสม ทำให้ราคาก่อสร้างสูงนั้น ขอย้ำว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการทำถนนลูกรังอัดแน่นผสมยางพาราและผงปูนซีเมนต์ทำได้ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ เร่งประสานกรมทางหลวงออกแบบก่อสร้างและสูตรผสมที่เน้นการใช้น้ำยาง โดยจะเป็นสูตรที่ใช้น้ำยางสดผสมสารลดแรงตึงผิว ซึ่ง อปท.จะรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังจะเร่งออกประกาศราคากลางสำหรับการสร้างถนนยางพาราที่ดำเนินการโดย อปท.เอง จากก่อนหน้านี้ประกาศราคากลางเป็นราคาจ้างเหมา ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งมีกองช่างอยู่แล้ว สามารถดำเนินการเองได้ถูกกว่าราคาจ้างเหมา จากกิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาท หากท้องถิ่นทำเอง อยู่ที่กิโลเมตรละ 900,000 บาท ย้ำว่าโครงการมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางและผู้รับเหมาก่อสร้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้แบบก่อสร้างสูตรผสมยางพาราและราคากลางประกาศใช้ได้ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน จึงสั่งการให้กระทรวงเกี่ยวข้องเร่งหาวิธีลดต้นทุน โดยเฉพาะค่าปุ๋ยที่เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30ของการเพาะปลูก ดังนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินการผลิตปุ๋ยและมีความเข้มแข็งผลิตปุ๋ย 2 สูตร เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรทั่วประเทศ คือ ปุ๋ยสั่งตัดและปุ๋ยผสม ซึ่งรัฐให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ในการปรับปรุงพันธุ์ยางโดยศูนย์วิจัยยางของ กยท. ซึ่งมี 5 แห่งทั่วประเทศได้พัฒนาสายพันธุ์ดีให้น้ำยางต่อไร่สูง คุณภาพน้ำยางดี และอายุการกรีดนาน ได้สั่งให้เร่งขยายกิ่งพันธุ์และกระจายสู่เกษตรกรเพื่อปลูกทดแทนต้นยางที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปหรืออายุ 15 ปี แต่ต้นต้นโทรมให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มทุนแล้ว.-สำนักข่าวไทย