กรุงเทพฯ 21 มิ.ย.-ส.อ.ท. เผยยอดขายรถตก ทำให้กระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วน-ยาง แนะรัฐบาลเร่งแก้ไข 4 ข้อ
จากกรณีหนุ่มโรงงานโพสต์เฟซบุ๊ก บริษัทผลิตรถยนต์ดังในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเลิกจ้างกะทันหัน ชี้กระทบเฉพาะพนักงานซับคอนแทรกต์ โดยระบุข้อความว่า “วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ทำงานวันสุดท้าย … (ชื่อบริษัท) นิคมแหลมฉบัง ประกาศเตรียมปลดพนักงานซับทั้งหมด เลิกจ้างกะทันหัน ขอเป็นกำลังใจให้พนักงานซับทุกคนสู้ๆ กันต่อไปนะครับ”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกไทย ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศกำลังซื้ออยู่ในช่วงเปราะบาง ทำให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มรถยนต์ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 เนื่องจากยอดขายลดฮวบ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยานยนต์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ ก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงผู้ผลิตยางรถยนต์ ซึ่งในจำนวน 1,700 โรงงานที่ปิดตัวลงไปในปี 2567 ส่วนหนึ่งเป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์ เพราะยอดขายรถยนต์ลดลง ยางรถยนต์ก็ขายได้น้อยลง และนอกจากนี้ยังมียางรถยนต์ของจีนเข้ามาเยอะ เพราะมี FTA ระหว่างไทย-จีน ขณะเดียวกันที่แม้ในไทยรถอีวีจะมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่ารถอีวีเหล่านั้นเป็นรถที่นำเข้ามาทั้งคัน จึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบหนัก นอกจากนี้การที่บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยแล้วส่งสินค้าไปขายยุโรป อเมริกา เพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า แต่สุดท้ายทางอเมริกา และยุโรปก็ออกกฎหมายกีดกันบริษัทเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตไทยที่ไม่เคยมีปัญหาโดนร่างแหไปด้วย หลายโรงงาน หลายบริษัทต้องปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย ลดคนทำงาน หรือหากไปต่อไม่ไหวก็ปิดกิจการ เช่นที่เป็นข่าวมาแล้วก่อนหน้านี้
พร้อมแนะรัฐบาลเร่งแก้ไข ดังนี้ 1.ลดผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) และสินค้าต่างชาติที่เข้ามาตีตลาดไทย ด้วยการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการใช้สินค้าผลิตในประเทศ (Made in Thailand) 2.สนับสนุน ช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ทั้ง ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ต้นทุนทางการเงิน ส่วนในระยะยาว ควรดำเนินการดังนี้ 1.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมไทยอย่างจริงจัง 2.เพิ่มทักษะให้แรงงานไทย 3.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และ 4.การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบราชการต่างๆ ที่ล้าหลังเพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ที่ได้รับความเดือดร้อนหนัก. -517-สำนักข่าวไทย