กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. – สศช.ยืนยันไทยไม่ใช่ประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก และมั่นใจว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงอีก
จากกรณีที่ CS Global Wealth Report 2018 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ในฐานะโฆษกสศช. เปิดแถลงข่าวยืนยันว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด เพราะการจัดทำดัชนีชี้วัดของ CS Global Wealth Report ได้คำนวณจากการกระจายความมั่งคั่ง ที่วัดจากการถือครองความมั่งคั่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว และนำข้อมูลของประเทศกำลังพัฒนามารวมไปด้วย จึงทำให้ไทยถูกจัดอันดับไปด้วย ซึ่งไม่ได้ถือเป็นมาตรฐานการจัดอันดับตามหลักสากล จึงขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีการจัดทำดัชนีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ หรือ GINI Coefficient Index ที่เป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารโลก ( World Bank) อยู่แล้ว โดยรายงานของ World Bank ในปี 2558 ไทยมีอันดับความเลื่อมล้ำลดลง จากอันดับที่ 46 จากการสำรวจใน 73 ประเทศ มาอยู่อันดับที่ 40 จากการสำรวจใน 60 ประเทศ และในปี 2560 คนไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลง อยู่ที่ร้อยละ 45.3 จากปี 2550 ที่อยู่ที่ร้อยละ 49.9 และมีรายจ่ายลดลงอยู่ที่ร้อยละ 36.4 จากปี 2550 ที่อยู่ที่ร้อยละ 39.8 ขณะเดียวกันไทยยังมีความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและน้อยที่สุด แคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่าในปี 2550 มาเป็น19.29 เท่าในปี 2560 ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากข้อมูลสถิติดังกล่าว จะทำให้ในปี 2580 ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงเหลืออยู่ที่ร้อยละ3.6 และมีความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนรวยและจนเหลือเพียง 15 เท่าได้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ดีขึ้น สศช.มีการจัดทำแผนการแก้ไขความยากจนแบบพุ่งเป้า ด้วยการทำฐานข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่อยู่อาศัย รายได้ และความต้องการหลักของคนกลุ่มนี้ เพื่อเสนอรัฐบาลในการจัดทำนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยขณะนี้มีการนำบางนโยบายไปใช้บ้างแล้ว – สำนักข่าวไทย