ก.เกษตรฯ 7 ธ.ค..-รมว.เกษตรกร นัดหารือเอกชน กระตุ้นรับซื้อน้ำยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง ด้านผลวิจัย มก.แนะเดินหน้าลดพื้นที่ยางฯ เร่งยอดใช้หวังปรับราคายางอย่างน้อย 9 -13 บาทต่อกิโลกรัม เสนอลดภาษีเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางฯ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เปิดเผยว่า วันนี้ เชิญผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อขอความร่วมมือในการส่งเสริมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง รับทราบนโยบายการใช้ยางพาราภายในประเทศเพื่อยกระดับราคายางตามที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยเอกชนที่ตอบรับ เช่น บริษัท เลเท็กซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องนอน บริษัทเอ็นซีอาร์ รับเบอร์อินดัสตรี้ ผู้ผลิตท่อยางและสายยาง บริษัท ยูเนี่ยนเบ็ลท์อินดัสตรี้ส์ จำกัด. ผู้ผลิตสายพานยาง ,ผู้ผลิตล้อยาง แบรนด์ดีสโตนและยางโอตานิ
“ผู้ประกอบการหลายรายซื้อยางฯจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สิงคโปร์และญี่ปุ่น จึง สั่งการ ยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เร่งศึกษาภายใน 7 วันให้ได้ข้อสรุปว่า จะมีแนวทางอย่างไร โดยอาจให้กยท.ซื้อขายยางกับบริษัทล้อยางโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง”นายกฤษฎากล่าว
นายกฤษฎากล่าวว่าจากที่สหรัฐอเมริกากับจีน ได้ชะลอการปรับขึ้นภาษีกรณีสงครามการค้าระหว่างกัน นับเป็นผลดีต่อการผลิตยางล้อของจีน เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ โดยหากเจรจาการค้าแล้วได้ผลสรุปที่ดีก็จะเป็นผลดีต่อราคายางพารา ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ ว่าสหรัฐจะมีการขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้ายางรถยนต์จากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติถึงกว่าร้อยละ 70 ของการใช้ทั้งหมด จึงทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ชะลอแผนการผลิตล้อยางลง ประกอบกับค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการซื้อยางพาราจากไทยแพงขึ้น
นายกฤษฎากล่าว จากผลวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ระบุว่าราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากการราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2554 สตอกยางตลาดโลกมีสูงมาก กำลังผลิตแต่ละปีสูงกว่าการใช้ โดยปีนี้ปริมาณการผลิตทั่วโลกสูงถึง 14.45 ล้านตัน ปริมาณการใช้อยู่ที่ 13.92 ล้านตัน สตอกยางธรรมชาติของโลกที่สะสมมาต่อเนื่องจนถึงปีนี้จะมากถึง 4.66 ล้านตัน
ในงานวิจัยมีการคำนวณด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ราคาที่เกษตรกรได้รับสูงสุดที่ 41 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากไทยสามารถทำให้ปริมาณยางในประเทศลดลงได้ 1 ล้านตัน ทั้งจากการเพิ่มการใช้และลดกำลังการผลิต จะทำให้ราคายางพาราสามารถปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9 -13 บาทต่อกิโลกรัม โดยสามารถดำเนินการได้ตามแผนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนสวนยางที่อายุมากหรือต้นโทรมแล้ว ให้ปลูกพืชอื่น ทำปศุสัตว์ หรือประมงทดแทน ซึ่งต้องเพิ่มแรงจูงใจกับเกษตรกรทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศ ซึ่งนโยบายนี้มาเลเซียดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้ควรส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยใช้ข้อมูลจาก (Agri-Map) และปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ทดแทน โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ซึ่งจากสถิติของกรมพัฒนาที่ดินพบว่า พื้นที่ปลูกยางพาราที่ไม่เหมาะสมและเหมาะสมน้อยมีสูงถึง 4.9 ล้านไร่ และหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานยางพาราเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันจากยางธรรมชาติ ที่ผลิตจากต้นวายยูลี (Guayule) และต้นรัสเซียแดนดิไลน์ (Russian Dandelion) -สำนักข่าวไทย