กรุงเทพฯ 7 ก.ย.-กทม.ยกเลิกโครงการ ตู้เขียวระวังภัยอัจฉริยะ หลังหมดสัญญากับเอกชน และไม่ได้รับการตอบรับที่ดี ใช้สายตรวจเทศกิจตามเดิม
ผู้สื่อข่ารายงานว่าพบตู้เขียวระวังภัย วางทิ้งเรียงรายภายในสำนักงานเขตแห่งหนึ่ง หลังจากที่เริ่มติดตั้งในพื้นที่ 22 เขต จำนวน 112 จุด ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 จึงสอบถามไปยัง พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ เปิดเผยถึงกรณีนี้ ว่า ตู้เขียวระวังภัย มีอยู่ 2 ประเภท คือ ตู้เขียวระวังภัยอัจฉริยะ รับแจ้งเหตุด่วนได้โดยตรงจากประชาชน พร้อมติดกล้องถ่ายภาพผู้ร้องเรียน และบันทึกเสียงระหว่างโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์อัมรินทร์จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความช่วยเหลือภายใน 5 นาที เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2555 และตู้เขียวธรรมดาในโครงการสายตรวจตู้เขียว ที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี จำนวนกว่า1,000 จุดจากทั้งหมด 50 เขต
ซึ่งตู้เขียวที่มีการถอดออกจากพื้นที่ คือ ตู้เขียวอัจฉริยะ เนื่องจากหมดสัญญา กับเอกชนเจ้าของระบบ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่ง กทม.ไม่มีงบประมาณในการต่อสัญญา พร้อมพิจารณาแล้วว่าอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะผ่านมากว่า 3 ปี มีการกดเล่นก่อกวน มากกว่าการร้องเรียนจริง แต่ละปีไม่ถึง 500 ครั้ง ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ กทม.ต้องการ
ทางเขตจึงพิจาณายกเลิกและถอดออกจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการชำรุดและการทำลายทรัพย์สิน ของผู้ไม่หวังดี
แต่โครงการสายตรวจตู้เขียวธรรมดา ยังคงดำเนินการต่อตามปกติ ส่วนตู้เขียวอัจฉริยะที่ยกเลิกไปก็นำไปเก็บไว้ หากมีงบประมาณในการดำเนินการต่อก็สามารถนำมาใช้ได้หรืออาจจะนำมาปรับปรุงใช้เป็นตู้เขียวปกติเพื่อใช้งาน
สำหรับโครงการ ตู้เขียวระวังภัย กทม.จ้างเอกชนติดตั้งและดูและเชื่อมต่อระบบ ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท ติดตั้งนำร่องใน22 เขต จำนวน 112 จุดเสี่ยง หลังเปิดให้บริการไป 2 สัปดาห์ มีการใช้งานประมาณ 2,000 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการก่อกวน และทดลองระบบของเทศกิจ ส่วนการร้องเรียนและแจ้งเหตุจริงมีไม่เกิน 50 ครั้งเท่านั้นและไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือรุนแรงใดๆ.-324