สำนักข่าวไทย 3 ธ.ค. – วิเคราะห์ธุรกิจไทยได้หรือเสีย ? เมื่อ จีน-สหรัฐ พักรบสงครามการค้า แนะเอสเอ็มอีช่วงชิงตลาดสินค้าทดแทน หลัง 2 ชาตินำเข้าสินค้าระหว่างกันลดลง
การพักรบของ 2 ยักษ์ใหญ่ สหรัฐ-จีน เหมือนคลายล็อกแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกเลยทีเดียว แม้จะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาชั่วคราวก็ตาม เพราะสงครามการค้ากดดันหุ้นไทยมานานกว่า 6 เดือนแล้ว วันนี้หุ้นไทยเลยสดใส ทะยานขึ้นไม่หยุด ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย และ ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ที่พุ่งขึ้นกว่า 500 จุด โดยวันนี้หุ้นไทยปิดไปสวยๆ ที่ระดับ 1,672.61 จุด เพิ่มขึ้น 30.81 จุด มูลค่าการซื้อขาย 60,562.30 ล้านบาท
การพักรบชั่วคราวของ สหรัฐ-จีน ในความเห็นจากนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ของไทย อย่าง นายธนวรรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มีผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุน และทำให้คลายความกังวลระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามท่าทีของทั้ง 2 ประเทศต่อไป ต้องดูว่าจีนจะสามารถทำตามที่สหรัฐร้องขอได้หรือไม่ ซึ่งมองว่าสถานการณ์ไม่น่าที่จะเลวร้ายลงไปอีก สุดท้ายน่าจะหาทางออกร่วมกันได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเติบโตเพียง 3.7% ดังนั้นผู้นำทั้ง 2 ชาติ ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากสงครามการค้ากลับมารุนแรง หรือตกลงกันไม่ได้ก็จะไม่เป็นผลดีกับชาติใดเลย ซึ่งมองว่าหากสงครามการค้าปลดล็อกได้จริง จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4.2% ในปีหน้า การส่งออกจะโต 5% กำลังซื้อผู้บริโภคจะฟื้นกลับมา ทำให้ปีใหม่บรรยากาศชื่นมื่น
ด้าน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่าง 2 ชาติ ยังไม่ได้หายไป เพียงแต่มาตรการยังไม่ได้ยกระดับความรุนแรง ต้องจับตาว่าจีนจะแก้ไขได้ตามที่สหรัฐร้องขอหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องที่ให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในจีนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจกระทบต่อธุรกิจของจีนเอง เพราะหากจีนทำไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน จากที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 10 % เป็น 25 % หลังวันที่ 1 มีนาคม 2562 มองโอกาสความเป็นไปได้ 50 : 50
ส่วนความคาดหวังที่จะมีต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย เพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษีสหรัฐ นายเชาวน์ เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการย้ายฐานการผลิตไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตของจีน ค่าแรงยังต่ำกว่าที่อื่น ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้ากดดันการส่งออกไทยโตน้อยลง จากปีนี้โต 8 % เหลือ 5 % ในปีหน้า
มีการวิเคราะห์กันว่าจะมีสินค้าไทยบางประเภทที่มีโอกาสเข้าไปทำตลาดทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และมีสินค้าไทยที่จะส่งไปขายในตลาดจีน ส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด ผลไม้เมืองร้อน ที่คนจีนนิยมบริโภค คือ มะพร้าว ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง เหล่านี้
ส่วนทางกระทรวงพาณิชย์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ถือว่าเป็นเรื่องที่เบาใจและหายใจได้ระดับหนึ่งว่าน่ามีทางออกในเรื่องนี้ได้ แต่ต้องติดตามว่าผลการเจรจาจะจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าช่วงนี้น่าจะส่งผลดีต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ทั้ง 2 ประเทศนำเข้าสินค้าไทยค่อนข้างมาก การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามการค้า น่าจะดีขึ้นช่วยประคองให้การส่งออกไทยโตเกิน 8% อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการขึ้นภาษีของสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนกับทุกประเทศ ว่าสหรัฐจะชะลอหรือไม่ เพราะประเทศที่เข้าข่ายไม่ได้มีเพียงจีนเท่านั้น แต่รวมไทยด้วย หากสหรัฐมีท่าทีผ่อนปรนลงก็จะทำให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไม่โดนกระทบ
ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐและจีน ในเดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่เดือนกันยายน ติดลบ โดยการมูลค่าการส่งออก 10 เดือนแรก ไปสหรัฐ อยู่ที่ 23,167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% ส่วนการส่งออกไปจีนอยู่ที่ 24,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8 %
ปัญหาสงครามการค้าของมหาอำนาจอย่างสหรัฐ-จีน ยังวางใจไม่ได้ ต้องติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้ต่อไป แต่ที่แน่ๆ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้นมาแล้ว และพรุ่งนี้ราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้น เบนซิน, แก๊สโซฮอลล์ และดีเซล ขึ้น 30 สตางค์ / ลิตร ส่วน อี 85 ขึ้น 15 สตางค์ / ลิตร
ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อ คือ นโยบายการเมืองของจีน ถือเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างประเทศจีนให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจีนคงจะไม่ยอมประนีประนอม ข้อเรียกร้องที่สหรัฐต้องการให้จีนปฏิบัติต่อนักธุรกิจต่างชาติอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ .- สำนักข่าวไทย