กรุงเทพฯ 27 พ.ย.- เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับการวางตัวผู้สมัครลงสู้ศึกเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีมุมมองจากนักวิชาการที่วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละพรรค ติดตามจากรายงาน
ครบกำหนดเส้นตายสังกัดพรรคการเมืองในเที่ยงคืนของวันที่ 26 พ.ย. ทุกพรรคแต่งองค์ทรงเครื่องเสริมกำลังเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 เต็มที่ เสริมจุดอ่อนจุดเเข็ง ดึงนักการเมืองทั้งบิ๊กเนมและอดีต ส.ส.ในพื้นที่หวังเรียกคะแนนเสียง
หากประเมินรายพรรคเริ่มจากแชมป์เก่าพบว่า เพื่อไทย จุดแข็งยังคงอยู่ที่นโยบายที่ชัดเจน มีความเป็นตัวตนถูกใจประชาชน ที่ไล่เรียงมาจากสมัยพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน สามารถครองใจรากหญ้าจนถึงชนชั้นกลางได้ แต่จุดอ่อนมีภาพเรื่องการทุจริต เชิงนโยบายถูกมองจะสร้างปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องที่คาใจคือการนิรโทษกรรม
ส่วนพันธมิตรอย่างพรรรคไทยรักษาชาติ แม้จะถูกมองเป็นสาขา 2 แต่มีความโดดเด่นชูภาพคนรุ่นใหม่ที่มากประสบการณ์ เป็นการนำเสนอพลังขับเคลื่อนจากคนอีกยุค เป็นทางเลือกของคนที่อยากจะเปลี่ยนจากพรรคเพื่อไทย แต่ข้อเสียคือหากคนที่ไม่ชอบแนวคิดเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะไม่สนใจ ถูกมองเป็นพรรคตัวแทน ที่ไม่สามารถสลัดภาพของนายทักษิณ ชินวัตรได้
อีกฟากฝั่งพรรคการเมืองเก่าประชาธิปัตย์ สิ่งที่ได้เปรียบคือมีหัวหน้าพรรคคนเดิม มีหลักการ มีความเป็นสถาบันที่เหนียวแน่น และมีการไหลเวียนออกของสมากชิกไม่มาก ขณะที่ข้อด้อยเป็นภาพในอดีตเมื่อครั้งที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ กลับไม่สามารถทำงานให้สำเร็จโดนใจประชาชน เดินหน้าทำงานได้ไม่เต็มที่ ถูกปรามาสว่าดีแต่พูด
สำหรับน้องใหม่มาแรงพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองเป็นพรรคของ คสช.เพราะมี 4 รัฐมนตรีเป็นแกนนำ ถือว่าได้เปรียบที่สุดทั้งจากชื่อพรรคที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ เอื้อต่อการหาเสียง และยังมีขุมกำลังของ ส.ว. 250 เสียง ในมือหากจัดตั้งรัฐบาล มีอดีต ส.ส.ฐานเสียงที่เข้มแข็งในพื้นที่ดึงคะแนน แต่สิ่งที่ถูกโจมตีจะเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจและถูกมองถึงความไม่จริงใจในการบริหารปฏิรูปประเทศ
นักวิชาการด้านกฎหมายมองว่า แม้พรรคพลังประชารัฐจะได้เปรียบมากกว่าทุกพรรค จากปัจจัยต่างๆ และแม้จะถูกตั้งข้อสังเกตใช้ยุทธศาสตร์เดียวกับพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่การจะประสบความสำเร็จแบบเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนพรรคที่คาดว่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด นักวิชาการยังเชื่อว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย แต่พรรคที่จะเป็นตัวแปรสำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ เหตุจากไม่มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา
นับจากนี้ถึงเที่ยงคืนวันที่ 25 ก.พ. ทุกอย่างยังไม่มีสิ่งใดที่แน่นอน อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรคที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชิงความได้เปรียบทางการเมืองตลอดเวลาก่อนการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงจะเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย