กรุงเทพฯ 7 ธ.ค.-เวทีเสวนายกร่าง กม.ที่มีผลกระทบเด็ก พบเด็กในภูมิภาคเอเชียเเปซิฟิกร้อยละ43 ถูกลงโทษก่อนอายุ3 ขวบ แนะเทคนิคสร้างวินัยเชิงบวก ส่งเสริมพัฒนาการสมอง-จิตใจ
กรมกิจการเด็กเเละเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์กรยูนิเซฟ จัดเวทีเสวนาประชาพิจารณ์” การยกร่างกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อเด็กเเละเยาวชน” เพื่อกำหนดเงื่อนไขเเห่งการสมรสเกี่ยวกับอายุขั้นต่ำในการอนุญาตให้เเต่งงานจาก 17 ปี เป็น 18 ปีเเละสิทธิหน้าที่ของบิดา มารดาเเละบุตรเกี่ยวกับผู้ใช้อำนาจปกครองทำโทษบุตรเพราะที่ผ่านมา พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักสากลเเละรายละเอียดอาจไม่ครอบคลุมเท่าที่ควรจึงต้องปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญเเละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กอาเซียน กล่าวว่า ตามกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ กำหนดให้เด็กวัย 17 ปีที่สมรส ถือเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ จากปกติผู้ที่บรรลุนิติภาวะคือต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ที่ผ่านมาการสมรสไม่ได้ทำให้เด็กมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น กลับยิ่งเพิ่มปัญหาในสังคมมากขึ้น จึงควรเเก้ไขอายุขั้นต่ำในการอนุญาตเเต่งงานจาก 17 ปีเป็น18 ปี
ส่วนเรื่องสิทธิเเละหน้าที่ของผู้ปกครองเกี่ยวกับการทำโทษบุตร ถึงเเม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ปกครองลงโทษตามสมควรเพื่อว่ากล่าวเเละอบรมสั่งสอน เเต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเเละจิตใจของเด็กเเละเยาวชน ไม่ทำให้คุณค่าในตัวเด็กลดลง กฎหมายกำหนดชัดเจนเเต่ผู้ปกครองไร้จิตสำนึก จะสอนเด็กด้วยการลงโทษเเละให้รางวัลที่ผิด เด็กจึงซึมซับความรุนเเรง จึงเสนอ 3 มาตรการเพื่อปรับกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ มาตรการการบริหาร มีหน่วยงานที่ดูเเลโดยตรง เพราะอดีตมีปัญหาเรื่องการใช้กฎหมาย มาตรการทางสังคม ปรับวิธีการลงโทษเเละมาตรการการศึกษา เพื่อให้ความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กเเก่ผู้ปกครองก่อนจะลงโทษเด็ก
ด้านนางชัมบา ลาการ์วัน(Chamba Raghavan) นักวิชาการจากองค์กร ยูนิเซฟ กล่าวว่า ความรุนเเรงที่เด็กถูกกระทำทั้งทางกายเเละวาจา จะสั่งสมไปตลอดชีวิตของเด็ก ในภูมิภาคเอเชียเเปซิฟิกสำรวจข้อมูลพบ เด็กร้อยละ 43 ถูกลงโทษเเละทำร้ายก่อนอายุ 3 ขวบ เเละเด็กร้อยละ 59 ถูกทำร้ายก่อนอายุ 5 ขวบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงประกอบกับการศึกษาจากทั่วโลก ระบุชัดการลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายไม่ได้ส่งผลดีเเต่อย่างใด ดังนั้นเด็กจึงควรได้รับการดูเเลเอาใจใส่ในช่วงขวบปีเเรกๆ เพราะจะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองเด็กไปตลอดชีวิต
ขณะที่นางปนัดดา ธนเศรษฐกร นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการสมอง จิตใจเเละพฤติกรรมเเทนการลงโทษนั้นมีผลดีกว่าทำโทษเด็กทางกาย เดิมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในไทย ร้อยละ 86 เด็กได้รับเเต่การสร้างวินัยเชิงลบ ผู้ปกครองจะลงโทษเด็กด้วยคำพูดถึง 47 ครั้งทั้ง ห้าม ข่มขู่ ประชด ล้อเลียนเเละว่ากล่าวรุนเเรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากสะสมในตัวเด็ก ยิ่งส่งผลให้เพิ่มปัญหาอาชญากรรมในสังคมจึงควรสร้างวินัยเชิงบวกกับเด็ก อาทิ เปลี่ยนแปลงคำพูด ผู้ปกครองเป็นตัวอย่างที่ดีเเละใช้เวลาทำกิจกรรมเเละอยู่ร่วมกันให้มากขึ้น .-สำนักข่าวไทย