กรุงเทพฯ 18
พ.ย.-อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมเจรจาดูข้อมูลผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขสมก.ที่
จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการคมนาคม เพื่อขอปรับค่าโดยสารพรุ่งนี้
ขณะที่ข้อมูลศึกษาของทีดีอาร์ไอ ระบุผู้ประกอบการขาดทุนอย่าอ้างเก็บค่าโดยสารถูกอย่างเดียว
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
กล่าวถึงกรณี ที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.
2 สมาคม จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม
เพื่อเรียกร้องขอปรับค่าโดยสาร รถร้อนจาก 9 บาทเป็น 12 บาท และรถปรับอากาศระยะละ 2
บาท อ้างว่าขาดทุนหนักขณะนี้ โดยอธิบดี กรมการขนส่งทางบก
ยืนยันว่าได้เตรียมข้อมูลไว้คุยกับผู้ประกอบการแล้ว แต่รายละเอียด
ต้องรอให้เจรจาแล้วเสร็จ และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมจะให้นโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่รอบนี้ผู้ประกอบการ ขอปรับค่าโดยสารแรงถึง 3 บาทนั้น
เป็นราคาที่สูงไปหรือไม่นั้น อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว การที่ภาครัฐจะอนุมัติปรับราคาหรือไม่
ต้องพิจารณาปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลายๆ ด้าน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่ขอปรับค่าโดยสาร
ของรถร่วงมบริการ ขสมก
ที่ผู้ประกอบการอ้างผลศึกษา ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ทำการศึกษาต้นทุนของการเดินรถโดยสาร
และได้มีการรายงานให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว
โดยรายละเอียดผลศึกษาดังกล่าว ระบุว่า
การที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุนนั้น
ไม่ได้มาจากปัจจัยที่ต้องเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนอย่างเดียว
ตามที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้าง การขาดทุนยังมาจากหลายปัจจัย เช่น
ปัจจุบันรถโดยสาร ทั้งของขสมก.และรถร่วมบริการมีการวิ่งในเส้นทาง ที่ทับซ้อนกันมาก
ทำให้สูญเสียโอกาสทางรายได้ รวมทั้งมีการแข่งวิ่งเที่ยวกันเอง
เพราะบางเส้นทางมีผู้ประกอบการหลายราย รวมถึงปัญหาที่บางสายรถ
มีสภาพรถเก่าผู้โดยสารไม่อยากใช้บริการ
เป็นที่มาที่ภาครัฐต้องมีการปฎิรูปเส้นทางเดินรถใหม่ทั้งระบบ รวมถึงต้องปรับปรุงบริการที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้น
ผลศึกษาของทีดีอาร์จึงมีความชัดเจนว่า การพัฒนาระบบรถโดยสาร ต้องทำไปด้วยกันทั้ง 2
ด้าน ทั้งในแง่ของต้นทุน และในแง่การพัฒนาบริการ จึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
โดยเฉพาะผู้ใช้บริการ
ขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้ปรกอบการรถร่วมบริการเก็บค่าโดยสารขณะนี้
คือรถร้อน คนละ 9 บาท และรถปรับอากาศตามระยะ เริ่มต้นที่ 13 บาท
หากจะปรับค่าโดยสารได้ ผลศึกษาทีดีอาร์ไอ
ระบุว่า ในส่วนของทั้งรถร้อน และรถเย็นนั้น สามารถปรับได้ เพิ่มขึ้น 1-2 บาท
เท่านั้น คือรถร้อนเป็น 10 บาท และรถปรับอากาศที่ 14 บาท .-สำนักข่าวไทย