สำนักข่าวไทย 15 พ.ย. – รัฐเดินหน้าลงทุนสร้างใหม่-ขยายสนามบินทั่วไทย รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว
วันนี้เราจะคุยเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารทั่วไป ที่ใช้บริการ เดินทางโดยอากาศยานหรือเครื่องบิน ซึ่งในวันนี้ มีงานสัมนา “แนวโน้มอุตสาหกรรมการบิน” มีการพูดถึงการเติบโต ของการใช้บริการสายการบินทั่วโลก ที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด มาดูตัวเลขของไทย พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ เดินทางโดยเครื่องบิน 57 ล้านคนต่อปี แต่ในปีนี้ มีผู้ใช้บริการโดยสารเครื่องบิน 155 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 100 ล้านคนต่อปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า การที่ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค และรองรับการเติบโตอันนี้ กระทรวงคมนาคมต้องทำหลายๆ เรื่อง ทั้งการพัฒนาท่าอากาศยานรองรับทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การดึงให้สายการบินเข้ามาให้บริการ การดูแลมาตรฐานความปลอดภัยการบิน จนถึงการเพิ่มบุคลากรด้านการบินในประเทศ ให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม
การขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโต ที่ภายใน 10 ปีข้างหน้า เราจะเห็นภาพการลงทุนของรัฐบาล เพื่อขยายสนามบินที่มีอยู่ รวมถึงการก่อสร้างสนามบินใหม่ ถ้ารวมตัวเลขการลงทุน จะเป็นเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท
การก่อสร้างพัฒนาสนามบินประเทศไทย จะมี 2 หน่วยงานรับผิดชอบ เริ่มจาก บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีท่าอากาศยานที่อยู่ในกำกับดูแล 6 แห่ง อีกหน่วยงาน คือ กรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ดูแลสนามบิน 28 แห่ง
สนามบินที่ ทอท. ดูแล คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ และในอนาคต จะมีการรับโอนมาบริหารเพิ่มเติมจาก กรมท่าอากาศยาน เพิ่มเอาเฉพาะที่กำลังดำเนินการเป็นโครงการสำคัญ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการในเฟสที่ 2 ลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท ไม่รวมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งมีข้อโต้แย้งเรื่องการประกวดแบบ ลงทุนอีก 42,000 ล้านบาท รวมถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ที่จะมีการพัฒนาระยะที่ 3 วงเงิน กว่า 37,000 ล้านบาท
รวมทั้งในส่วนภูมิภาค ทอท. ที่งานก่อสร้างสนามบินใหม่ ที่ต้องจับตา คือ สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ที่จังหวัดลำพูน สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงา โดยการก่อสร้างสนามบินทั้ง 2 แห่งนี้ รวมงบประมาณก่อสร้างรวมกันกว่า 120,000 ล้านบาท อันนี้ไม่รวมงบประมาณ ที่มีการลงทุนขยายสนามบินเดิมที่มีอยู่ปัจจุบัน
ส่วนท่าอากาศยานในกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ปัจจุบันมี 28 แห่ง มีแผนกว่า 25 โครงการ ทั่วไทย วงเงินกว่า 34,000 ล้านบาท และกำลังก่อสร้างใหม่อีก 1 สนามบิน คือ สนามบินเบตง จ.ยะลา
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันมีแนวคิดที่จะก่อสร้างสนามบินใหม่ ที่จังหวัดมุกดาหารด้วยเพราะ เศรษฐกิจและการค้าชายแดนเติบโตสูงมาก ทำให้เกิดการเดินทาง ระหว่างภูมิภาคและประเทศ เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนให้เดินหน้าโครงการต่อไป .- สำนักข่าวไทย