สมุทรปราการ 15 พ.ย. – ก.อุตฯ สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุดปีนี้รีไซเคิลได้โลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 260 ล้านบาท และปีหน้าเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับเครือข่ายผู้ประกอบการ 80 ราย เพื่อขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ผ่านกระบวนการใช้นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อผลักดันขยายผลให้ภาคเอกชน นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งของภาครัฐที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กพร.และภาคเอกชนมาใช้
นายสมชาย กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ หรือ “Waste to Resource” ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร.มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีรวม 49 ชนิด ในส่วนของภาคเอกชนยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียอีกหลายชนิด
ทั้งนี้ กพร.มีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียไม่น้อยกว่า 8 ชนิดต่อปี โดยระยะแรกของการดำเนินงาน คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนหรือการรีไซเคิลขยะหรือของเสียเป้าหมาย 200–250 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของประเทศด้วย โดยคาดว่าปีนี้จะได้โลหะมีค่าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้คิดเป็นมูลค่า 260 ล้านบาท และปีหน้าเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท
นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากกระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน และปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคจะสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) และยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) เดิม เพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในวงกว้างร่วมกันเปลี่ยนขยะหรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Circular Economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดมีภาคเอกชนไทย 3 รายให้ความสนใจรีไซเคิลกากตะกอนอลูมิเนียม เพื่อนำกลับไปหลอมอลูมิเนียมใหม่อีกครั้ง สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กพร.กับเครือข่ายผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องสามารถเร่งดำเนินการได้อย่างทันที คือ การต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั้งของ กพร.และเครือข่ายผู้ประกอบการ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถรีไซเคิลขยะหรือของเสีย ประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดย กพร.เชื่อว่า ขณะนี้มุมมองภาพรวมเปลี่ยนไปแล้ว คือ มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าทรัพย์บนดิน สินในเมืองที่เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในรูปขยะหรือของเสีย ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society และ Circular Economy.-สำนักข่าวไทย