กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ก.เกษตรฯ ประชุมด่วนหาแนวทางแก้ราคายางตกต่ำ เล็งจ่ายเงินช่วยชาวสวนยางชดเชยขาดรายได้ ทำระบบรักษาเสถียรภาพ มาตรการภาษีจูงใจใช้ยางภายในประเทศ และลดปริมาณน้ำยางดิบปีละ 1.5 ล้านตัน เสนอ ครม.เห็นชอบ 20 พ.ย.นี้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนภายใน 7 วัน จากการประชุมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายชาวสวนยางพารา ผู้แทนสมาคมยางพารา และบริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วรับเบอร์ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ บริษัท วงศ์บัณฑิต และบริษัท ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่อง
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณชดเชยการขาดรายได้ชาวสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. 1.4 ล้านครัวเรือน จากเดิมจ่ายไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ทั้งเจ้าของสวนและผู้รับจ้างกรีดยาง ชาวสวนยางแบ่งสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่า จะเพิ่มมากกว่าไร่ละ 1,500 บาท หรือยังคงอยู่ที่ไร่ละ 1,500 บาท แต่จะเพิ่มจำนวนไร่ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังจะทำระบบรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยราคาที่เกษตรกรควรขายได้ขณะนี้ สำหรับราคาน้ำยางสดกิโลกรัมละ 37 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 37 บาท ยางแผ่นรมควันกิโลกรัมละ 40 บาท โดยกำหนดงบไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เบื้องต้นจะใช้งบ กยท.หากไม่พอจะเสนอของบกลางจากรัฐบาล หากภาคเอกชนรับซื้อต่ำกว่าราคาดังกล่าวรัฐจะชดเชยให้กิโลกรัมละ 2 บาท ทั้งนี้ กยท.จังหวัดจะเข้าไปดูแลปริมาณการขายอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีการแจ้งเกินจริง ทั้งนี้ ระบบรักษาเสถียรภาพราคายางพาราจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์ราคายางพาราจะดีขึ้นในระดับที่เกษตรกรคุ้มทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีแนวทางปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชอื่น แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากเกษตรกรเท่าที่ควร รวมทั้งจากที่เสนองดกรีดยาง 3 เดือน แต่มีหลายฝ่ายท้วงติงว่าแม้ไทยไม่กรีดยาง แต่ประเทศอื่นยังกรีด และส่งขายต่างประเทศ ทำให้ไทยขาดโอกาสในการส่งออก จึงยังไม่ดำเนินการมาตรการนี้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยผลิตยางพาราได้ 4.6 ล้านตัน/ปี ส่งออก 4 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 6 แสนตัน แต่ใช้ไม่หมดจึงล้นตลาด จากนี้ไปไม่สามารถจะพึ่งการส่งออกได้ เนื่องจากมีหลายประเทศปลูกยางพารา เพื่อส่งผลผลิตยางส่งออกเช่นกัน ดังนั้น จึงเห็นว่าการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเป็นแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการลดภาษี โดยวันนี้ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผลิตถุงมือยาง บริษัทผลิตล้อยางรถยนต์รวม 6 บริษัทให้มาตั้งโรงงานในไทย โดยทำข้อตกลงรับซื้อยางจากเกษตรกร ซึ่งรัฐจะลดภาษีให้เป็นพิเศษ ขณะเดียวกันประชาชนที่ซื้อล้อยางที่ผลิตจากน้ำยางในประเทศไปใช้สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ยังเชิญบริษัท IKEA ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องเรือนแห่งใหญ่ของสวีเดนให้มาตั้งโรงงานผลิตเครื่องเรือนในไทย โดยใช้วัสดุไม้ยางพารา ซึ่งจะลดภาษีให้เป็นพิเศษเช่นกัน
มาตรการที่ทำควบคู่ คือ ประสานงานกับกระทรวงต่าง ๆ เพื่อจัดทำเครื่องนอนทั้งที่นอนและหมอนจากยางพารามอบให้โรงพยาบาล โรงเรียนประจำ สถานสงเคราะห์ ค่ายทหาร และเรือนจำ โดยให้ กยท.รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 37 บาท โดยจะเสนอของบกลางมาดำเนินการ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณจากที่หน่วยงานเหล่านี้ต้องจัดสรรงบเพื่อซื้อเครื่องนอน รัฐบาลจะนำงบประมาณส่วนนั้นมาสนับสนุนการใช้ยางพารา โดยที่หน่วยงานตัดงบประมาณสำหรับซื้อเครื่องนอนไป ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางสดให้ได้ 170,000 ตันในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจะเริ่มรับซื้อทันทีที่ทราบปริมาณความต้องการใช้ ส่วนยางค้างสตอกขณะนี้เริ่มเสื่อมคุณภาพประมาณ 104,000 ตัน จะนำไปทำพื้นสนามฟุตซอล โดยสั่งการให้ กยท.เร่งสำรวจข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กยท.จะผลิตให้แก่โรงเรียนและสนามกีฬาที่ต้องการ
นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณาว่าสามารถออกประกาศระเบียบพัสดุว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการการใช้ยางพาราในภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ยังมีงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้อีกกว่า 10,000 ล้านบาทมาซื้อยางพาราไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามเป้าหมาย 200,000 ตัน จากปัจจุบันใช้เพียง 8,800 ตัน เนื่องจากที่ผ่านมายังติดขัดปัญหาระเบียบพัสดุว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของราชการที่ต้องซื้อของราคาต่ำที่สุด แต่มีความคุณภาพสูงสุด โดยถนนการใช้ยางพาราดินซีเมนต์นั้นมีระยะเวลาใช้งาน 7 ปี ซึ่งนานกว่าถนนแอสฟัลท์ที่ใช้งานได้ 5 ปี แต่ราคาถนนยางพาราดินซีเมนต์ราคาแพงกว่ากลางของถนนที่ใช้แอสฟัลท์ ดังนั้น จึงจะเสนอกรมบัญชีกลางให้ทำราคากลางถนนยางพาราดินซีเมนต์ เพื่อให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ อีกมาตรการหนึ่ง คือ กำลังจะทำระบบประกันรายได้ของชาวสวนยางพารา โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาว่าเกษตรกรควรขายยางแผ่นดิบได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งจะทราบผลใน 30 วัน สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรฯ จะต้องนำเสนอในที่ประชุม ครม.วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายนนี้
นายกฤษฎา กล่าวถึงชาวสวนยางทางภาคใต้กำลังจะเดินทางมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินมาตรการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปลูกยางพาราได้ แต่ไม่สามารถจะนำงบประมาณไปรับซื้อยางมาเก็บไว้เหมือนรัฐบาลอื่นได้ทำมา เนื่องจากเสี่ยงต่อการที่ราคายางจะผันผวน รัฐซื้อมาในราคาหนึ่ง แต่เมื่อจะขายหากราคาตลาดโลกลดต่ำจะทำให้ขาดทุน นอกจากนี้ ยางที่ซื้อมาเก็บ 104,000 ตันนั้น ยังต้องมีค่าเก็บรักษาเดือนละ 11 ล้านบาท รวมปีละ 120 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่าหากจะต้องเสียงบประมาณเพื่อทำเช่นนั้น รัฐใช้แนวทางจ่ายค่าชดเชยการขาดรายได้แก่เกษตรกรโดยตรงดีกว่า รวมถึงกำหนดมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ส่วนระยะยาวที่จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพจะต้องลดพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศจาก 14 ล้านไร่ในปัจจุบัน โดยจะต้องลดพื้นที่ลงเหลือเพียง 10 ล้านไร่ ก็จะสามารถแก้ปัญหาราคาตกต่ำได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย