ทำเนียบฯ 13 พ.ย. – ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ส่ง สนช.พิจารณา สัปดาห์หน้า ปลดล็อกให้กัญชา-กระท่อม ใช้ในรักษาโรคได้ ให้ ป.ป.ส.-สธ. กำหนดพื้นที่ปลูก และคนนำไปใช้อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ทดลองใช้ 5 ปี ก่อนทบทวนอีกครั้ง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (13 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ พ.ศ. หรือ ที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.กัญชา โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อส่งกลับไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต เฉพาะกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ /ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครอง ไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะ หรือ สำหรับปฐมพยาบาลในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ หากเป็นการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์ หรือ เพื่อศึกษาวิจัย
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ในสถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น ขณะเดียวกัน เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็น หรือ ให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รวมถึง ผลิตและทดสอบยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ตามพื้นที่กำหนด หรือ กำหนดเขตพื้นที่ให้เสพกระท่อม หรือ ครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้เลย จึงแก้ให้มีการนำเข้า ส่งออกได้ แต่ต้องนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น และยกเว้นให้มีกัญชา กระท่อมไว้ในครอบครองได้ แต่มีไว้เฉพาะในการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยมีไว้ในครอบครองไม่มีความผิด และการเพิ่มความสามารถในการทำเพื่อรักษาโรค คือ หมอสามารถนำกัญชา หรือ สารเสพติดประเภท 5 มาใช้ในการสั่งยาและรักษาโรคได้ และให้สามารถเสพได้ในพื้นที่ที่กำหนด แต่คนที่จะผลิตหรือจำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครอง มีโทษทั้งหมด
“สิ่งนี้จะปลดล็อกให้หมอ คนไข้ การพกพาในจำนวนจำกัด ไม่มีความผิด ขอเน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้ เพื่อรักษาและใช้ในเชิงการแพทย์เท่านั้น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ส.และกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสม และการนำไปสู่การผลิต ต้องระบุว่าใครบ้าง และต้องมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อิสระ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดควบคุมดูแลในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะเวลา 5 ปี และหลังจาก 5 ปีจะทบทวนอีกครั้ง ว่าจะปรับอะไรอีกบ้าง .- สำนักข่าวไทย