กรุงเทพฯ 10 ก.ย.-สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ เรื่องโพลรีเซตปฏิรูปการเมืองกับความต้องการของสาธารณชน ต่อนักการเมืองในการปฏิรูปตัวเอง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 86.3 ระบุกลุ่มคนที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนมากที่สุดได้แก่ นักการเมือง รองลงมาคือร้อยละ 10.9 ระบุสื่อมวลชน และที่เหลือร้อยละ 2.8 ระบุ อื่นๆ เช่น ประชาชนที่แบ่งขั้ว นายทุนพรรคการเมือง ตำรวจ และ ทหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่กำลังเสนอทางออกให้ประเทศ ที่ชอบมากที่สุดในขณะนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ระบุไม่มีพรรคใดเลย อย่างไรก็ตามร้อยละ 14.6 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ ร้อยละ 11.5 ระบุพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 4.8 ระบุพรรคอื่นๆ ตามลำดับ
ส่วนพฤติกรรมนักการเมืองที่ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อปฏิรูปตัวเองมีอะไรบ้าง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 93.3 ระบุการทุจริต คอร์รัปชั่น รองลงมาคือ ร้อยละ 88.5 ระบุหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้องเครือญาติ ร้อยละ 82.9 ระบุ ยั่วยุ ก้าวร้าว ปลุกระดมความขัดแย้ง ร้อยละ 80.6 ระบุ กร่าง โอ้อวด พัวพันผู้มีอิทธิพล
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการรีเซตปฏิรูปการเมือง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 77.6 ระบุ เห็นด้วยเพราะจะไม่เสียความต้องการให้ขจัดปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น จัดระเบียบนักการเมือง ต้องการนักการเมืองหน้าใหม่ มีอุดมการณ์ ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนแท้จริงเป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 22.4 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ประชาชน และพรรคการเมืองมีส่วนร่วมอยากเห็นการทำงานแก้ปัญหาสำคัญร่วมกัน และไม่ชอบการปิดกั้นความคิดที่ทำกันแต่ในกลุ่มคนไม่กี่คน
ขณะที่ กรุงเทพโพลล์ เผยสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,156 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 78.0 เห็นว่าการเลือกตั้งในปี 2560 น่าจะยังมีการซื้อเสียงอยู่ ขณะที่ร้อยละ 16.6 เห็นว่าไม่น่าจะมีส่วนที่เหลือร้อยละ 5.4 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่าเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.2 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 37.0 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ส่วนร้อยละ 9.8 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่หากจะให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วย กกต. จัดการเลือกตั้ง เพื่อลดปัญหาการซื้อเสียง ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.2 เห็นด้วยเพราะคิดว่าน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของ กกต. ได้ ขณะที่ร้อยละ 25.1 ไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. และ กกต. สามารถดูแลได้อยู่แล้วมีเพียงร้อยละ 6.7 ไม่แน่ใจ .-สำนักข่าวไทย