บุรีรัมย์ 10 ก.ย.-ปลัดพาณิชย์เผย ยังมีคดี ข้าว จีทูจี อยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.อีก 10 คดี พร้อมเดินหน้ารับมือปริมาณข้าวฤดูกาลใหม่ ที่จะมีมากกว่าคาด เตรียมเสนอ นบข.สัปดาห์หน้า พร้อมปัญหาโครงการนาแปลงใหญ่
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง กรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งยึดทรัพย์คดีทุจริตข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ จีทูจี ของ บริษัทสยามอินดิก้า และผู้เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดส่งข้อมูล การขายข้าวแบบจีทูจีย่างต่อเนื่อง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ขอข้อมูลมา ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ปปช.อีก 10 คดี . คดีที่เหลือดังกล่าวมีสำนวนใหม่ เกี่ยวข้องกับข้าราชการ และนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ทางกระทรวงฯก็จะต้องเป็นโจทก์ร่วมในการยื่นร้องเรียกค่าเสียหาย ขณะที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเอกชนนั้น ก็เป็นไปตามกฎหมาย และการพิจารณาของศาล โดยเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ง.ในการดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป.
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยยภายหลัง ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเก็บข้อมูล สถานการณ์ข้าว ก่อนฤดูการเก็บเกี่ยวนาปี 2559/2560 เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 14 กันยายนนี้ ซึ่งจะรายงานถึงสถานการณ์ นาแปลงใหญ่ ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรมากกว่า 50 ราย มาทำนาแปลงใหญ่ เบื้องต้นที่พบปัญหาคือชนิดข้าวที่ผลิตได้ ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อแนวทางที่จะให้โรงสีเข้ามารับซื้อล่วงหน้าในราคานำตลาด ตันละ 200-300 บาท
“โรงสีให้ข้อมูลว่าถูกผู้ส่งออก กดราคารับซื้อล่วงหน้า ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวให้ต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น จะเรียกสมาคมโรงสี และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมาหารือ หากพบว่ามีการกดราคารับซื้อ หรือบิดเบือนกลไกตลาด ก็จะเสนอใช้มาตรการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ เพื่อเป็นแนวทางในการพยุงราคาข้าวในประเทศไม่ให้ตกต่ำ”ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุม นบข. จะนำเสนอปริมาณผลผลิตข้าวนาปีรวมทั้งมาตรการเสริมรองรับ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าผลผลิตจะสูงถึง 23.55 ล้านตันจากเดิมประเมินว่าจะมีเพียง 22 ล้านตัน รวมทั้งยังเตรียมจะนำเสนอแนวคิด การจัดทำคลังข้อมูลข้าวครบวงจร เช่น พื้นที่นา จำนวนเมล็ดพันธุ์ จำนวนเกษตรกร มีการบูรณาการเชื่อมข้อมูลกับทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเทคโนโลยีและการสารสนเทศ ให้ใช้ข้อมูลร่วมกัน ทำให้วางแผนการจัดการข้าวครบวงจร ในแต่ละปี ได้ครบถ้วนแม่นยำมากขึ้น
นางสาวชุติมา กล่าวถึง โรงสีบางส่วนแสดงความไม่พอใจถึงมาตรการส่งเสริมให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว แล้วไปทำอาขีพอื่น จนกระทบให้โรงสีต้องปิดกิจการ ว่า ปัจจุบันมีโรงสีในประเทศมีมากกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ เกินกว่าความต้องการ และในบางพื้นที่ มีการกระจุกตัวมากเกินไป แย่งกดราคารับซื้อ โดยเชื่อว่าเมื่อนำแผนข้าวครบวงจรมาใช้เป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างจำนวนโรงสี และผลผลิตข้าว-สำนักข่าวไทย