สำนักข่าวไทย 3 พ.ค.- ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย แจงกรณีนวดแล้วตาย ไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากการนวด เพราะผู้ตายมีการแสดงอาการก่อนหน้า รับบริการ ต้องรอผลการชันสูตร ชี้ร้านนวดมี 2 ประเภท นวดผ่อนคลายกับนวดรักษา คาดผู้เสียชีวิตรับบริการร้านวดผ่อนคลาย จึงไม่สามารถกู้ชีพ หรือสังเกตอาการได้ ขณะที่สบส. ประสาน สสจ.ตรวจสอบร้านนวด
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณี ผู้ใช้เฟสบุ๊คนาม พรรธน์นภา อุดหมุน ได้โพสข้อความระบุว่า !! อุทาหรณ์ นวดแล้วตาย พร้อมทั้งคลิปวีดีโอเหตุการณ์ทั้งหมด 3 คลิปความยาว 9 นาที ว่า เรื่องนี้ ยังไม่มีใครทราบความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น อย่างละเอียดจากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อมวลชน ทำให้ทราบว่าผู้ตายเริ่มมีอาการ ก่อนรับการนวด โดยการนวดไม่ใช่สาเหตุของการตาย โดยทราบว่าผู้ตายมีการเหนื่อยหอบ ก่อนรับการนวด จึงขอแยกกับญาติออกมานวดเพื่อผ่อนคลาย กับภรรยา สันนิษฐานของโรค เป็นได้หลายอย่าง เหมือนเช่นกรณีของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่เสียชีวิตจากโรคปัจจุบันทันด่วน หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งกรณีข้อมูลจากญาติที่ระบุว่า ผู้ตายอาจเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตัน ไปเลี้ยงปอด เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หูเช่นกัน ต้องมีการตรวจชันสูตรศพถึงจะยืนยันได้อย่างชัดเจน
นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ตามปกติในการนวดแผนไทย มีร้านนวด 2 แบบ 1. นวดแบบผ่อนคลาย การนวดร้านแบบนี้ผู้นวดจะผ่านการอบรม 150 ชม.ไม่ใช่หมอแผนไทย ไม่สามารถวินิจฉัย หรือ นวดเพื่อรักษา ใช้การนวดเพื่อผ่อนคลาย 2. คลินิกนวดในโรงพยาบาล เป็นการนวดเพื่อรักษา มีการตรวจอาการคนไข้ก่อนรับบริการ ซึ่งหากมีกรณีฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ภายในคลินิก สามารถแก้ไขและให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที โดยผู้ที่ให้บริการทางการแพทย์จะต้องเรียนจบหลักสูตรแพทย์แผนไทย 4 ปี การนวดรักษาโรคของแพทย์แผนไทย จะดูเรื่องการแก้ไขความผิดปกติของธาตุเจ้าเรือน แก้ไขการเดินลมในร่างกาย น้ำเหลือ ระบบประสาท
ด้าน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ ได้มอบอำนาจให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 พิจารณา 2 เรื่องหลัก 1.การขออนุญาตเปิดบริการจะมีมาตรฐานของร้านนวดอยู่ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งกำหนดเอาไว้ให้ผู้ขออนุญาตต้องมาอบรมในการเป็นผู้จัดการสถานประกอบการถึงจะอนุญาตให้เปิดได้ และ2.เรื่องของผู้ให้บริการที่อยู่ภายในร้าน หรือหมอนวดแผนไทยก็ต้องผ่านการรับรองหลักสูตรอบรมก่อนเช่นกัน
ส่วนการนวดต้องมีข้อห้ามหรือไม่ อธิบดี สบส. กล่าวว่า มี ซึ่งจริงๆแล้วหมอนวดแผนไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานนั้น ก่อนจะนวดต้องสอบถามผู้ที่มารับบริการก่อนว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ แต่หากเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลาย ก็อาจไม่ซักถาม แต่หากเป็นการนวดรักษาจะต้องถาม เพราะต้องวินิจฉัยอาการก่อน ซึ่งที่ห้ามหลักๆ ในการนวดได้แก่ อาทิ มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง การกดจุดบางจุดอาจจะไปกระตุ้นให้ความดันโลหิตยิ่งสูงมาก รวมทั้งหากมีแผล บางแผลก็ไม่สมควรนวด ,กรณีเป็นไข้สูง ก็ไม่ควรรับบริการเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย