ขอนแก่น 26 ต.ค.-พาไปชมผีเสื้อกลางวัน ที่ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่นี่ศึกษาวิจัยและต่อยอดส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยงส่งขายต่างประเทศ
พาไปชมผีเสื้อกลางวัน ที่ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่นี่ศึกษาวิจัยแมลงป่าไม้ รวมถึงผีเสื้อกลางวัน (ผีเสื้อกลางวันจะมีสีสันสวยงาม หากินในเวลากลางวัน) จากการศึกษาวิจัยเลี้ยงผีเสื้อได้ต่อยอดส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยงส่งขายต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีผีเสื้อกลางวันถึง 1,300 ชนิด ขณะที่หมู่เกาะอังกฤษมีเพียง 59 ชนิด ซึ่งในต่างประเทศมีโดมหรือสวนผีเสื้อประมาณ 400 แห่ง มีการนำเข้าผีเสื้อจากทุกภูมิภาค เพื่อนำไปบินโชว์ ผีเสื้อจะบินโชว์ได้เพียง 7-10 วัน ก็ต้องนำผีเสื้อเข้าอีก ดังนั้นการเลี้ยงผีเสื้อเชิงพาณิชย์จึงน่าสนใจ
ผีเสื้อใบไม้ใหญ่ คือผีเสื้อที่ต้องเฝ้าระวังการสูญพันธุ์ เป็นหนึ่งในผีเสื้อกลางวันหลายชนิดที่ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยง
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 เลี้ยงผีเสื้อที่มีในท้องถิ่นกว่า 20 ชนิด เช่น ผีเสื้อแพนซีเทา, แพนซีสีตาล ผีเสื้อหนอนมะนาว การเพาะเลี้ยงเริ่มจากนำพ่อแม่พันธุ์ผีเสื้อปล่อยในกรงตาข่าย กรงขนาด 2×2 เมตร ปล่อยผีเสื้อราว 10 คู่ ผีเสื้อเกือบทุกชนิดกินเกสรดอกไม้และผลไม้สุกเป็นอาหาร แต่ในระยะตัวหนอนผีเสื้อแต่ละชนิดจะกินพืชอาหารแตกต่างกัน เช่น ผีเสื้อแพนซีเทา ในกรงมีกล้วยน้ำว้าสุกเป็นอาหาร มีต้นต้อยติ่งน้ำเป็นพืชอาหารหนอนที่ผีเสื้อจะมาวางไข่ ผีเสื้อยังวางไข่บนตาข่ายกรง เจ้าหน้าที่จะเก็บไข่ทุกๆ วัน
เมื่อตัวหนอนโตจะย้ายมาอยู่ในกล่องพลาสติก เพื่อลอกคราบและเข้าดักแด้ ออกเป็นตัวเต็มวัย ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 นำองค์ความรู้จากการวิจัยผีเสื้อกลางวันถ่ายทอดสู่ชุมชน รวมกลุ่มเกษตรกรกว่า 10 ราย ในตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ เพาะเลี้ยงผีเสื้อส่งขายต่างประเทศ โดยส่งในระยะดักแด้ เพื่อให้ออกเป็นผีเสื้อที่ปลายทาง ราคาขึ้นอยู่กับชนิด ตั้งแต่ตัวละ 7-80 บาท เช่น แพนซีเทาตัวละ 25 บาทผีเสื้อใบไม้ใหญ่ตัวละ 60-80 บาท
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2 ยังเลี้ยงผีเสื้อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน.-สำนักข่าวไทย