สำนักข่าวไทย 26 ตค..- สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มขึ้น กำลังต้องการการช่วยเหลือดูแลจิตใจ พื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่โล่ง สงบ ปลอดภัย จะช่วยบำบัดด้านจิตใจ กดแชร์ และสละทรัพย์เพียงเล็กน้อยสนับสนุนการสร้างอาคารและกิจกรรมผู้ป่วย
นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่าสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เดิมชื่อโรงพยาบาลนิติจิตเวช เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2514 เพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อคดี รวมถึงตรวจประเมินผู้ต้องขังที่ถูกพิพากษาประหารชีวิต บนเนื้อที่ 50 ไร่ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เป็นสถานที่ศึกษาดูงานทั้งระบบสาธารณสุขและระบบยุติธรรม เมื่อปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ต้องเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีคดีด้วยตามนโยบาย แต่ชื่อของโรงพยาบาลเป็นตราบาปที่ประชาชนไม่กล้าเข้ามารับการรักษา จึงขอประทานนามใหม่เพื่อลดความวิตกกังวลและเอื้อต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตของประชาชน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานนามให้ใหม่ว่า “สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์” และปรับบทบาทเป็นสถาบันวิชาการที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาด้านวิชาการ การวิจัย นวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี การตรวจวินิจฉัย การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดี ด้วยทีมสหวิชาชีพ ที่มีความรู้ สมรรถนะ และประสบการณ์เฉพาะทาง ปัจจุบันเป็นองค์กรที่ให้บริการตามมาตรฐานคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและสร้างเสริมสุขภาพ
ด้วยบริบทและปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ในปี 2560 คณะผู้บริหารทบทวนบทบาทงานด้านนิติจิตเวช (forensic psychiatry) พบว่ายังไม่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้น จึงปรับขอบเขตการทำงานเป็น “นิติสุขภาพจิต” (forensic mental health) เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันการเกิดปัญหา มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านนิติสุขภาพจิต พัฒนาความรู้ เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับทิศทางการแก้ไขปัญหา เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านนิติสุขภาพจิต เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพ ด้านยุติธรรมเรียนรู้ และนำไปดูแลผู้ป่วย
นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา กล่าวว่าผู้ป่วยที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมีจำนวนน้อย เป็นผู้ที่ขาดโอกาส ถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี ความจริงแล้วปัญหาสุขภาพจิต สามารถรักษาได้ จากการติดตามดูแลผู้ป่วยหลังจากที่บำบัดรักษา ฟื้นฟู และกลับไปอยู่ในชุมชนพบว่าผู้ป่วยหายและกลับไปใช้ชีวิต สร้างคุณค่าให้ตนเองและชุมชนได้มากมาย ครอบครัว ชุมชน มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกการดำรงชีวิตของพวกเขา การได้รับรักษาต่อเนื่อง และการดูแลที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาก็ลดปัญหาได้ เพียงขอพื้นที่ให้พวกเขามีโอกาสกลับไปยืนอยู่โดยไม่โดดเดี่ยว
ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก ปี 2561 มีผู้ป่วยใน วันละเกือบ 200 คน มีเพียง 185 เตียง แต่มีผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาล้นตึกและแออัด ผู้ป่วยนอก จำนวน 6.5 หมื่นกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 17.4 เฉลี่ยวันละเกือบ 300 คน เป็นโรคจิตเภทมากที่สุดร้อยละ 24 โรคจิตจากสารเสพติดรองลงมา ร้อยละ 7.6 มีผู้ป่วยทุกกลุ่มวัยที่ต้องการการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่อาคารเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก และขาดงบประมาณในการปรับสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชต้องการพื้นที่เป็นสัดส่วนเฉพาะที่ออกแบบเพื่อการเยียวยาจิตใจ การให้การปรึกษาทั้งรายกลุ่มและบุคคล
จึงมีความจำเป็นต้องหางบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารหลังเก่า สร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ จัดซื้ออุปกรณ์ เทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต และจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ที่จำเป็น ปรับสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลาย และการบริการผู้ป่วยจิตเวช ให้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ 6 ปี ที่ผ่านมาสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้เพียงบางส่วนเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชฐานะยากจน ไม่มีรายได้และเป็นผู้ป่วยเร่ร่อน ทำให้สถาบัน ฯ มีหนี้สูญ ปีละ 10-32 ล้านบาท จึงขอเรียนเชิญชวนท่านที่มีจิตใจเมตตา และมีความปรารถนาที่จะสร้างกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมให้มีพื้นที่รับบริการที่ดี เท่ากับให้ที่ยืนอย่างเท่าเทียมในสังคม ท่านสามารถร่วมบริจาคได้โดยโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 479-0-12282-4 ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์” และการเข้าไปกดแชร์ได้ที่ facebook เติมสบายพลัส เพียงกดแชร์ 1 ครั้ง เท่ากับท่านได้บริจาค 1 บาท เพื่อคืนคุณค่า ให้ผู้ป่วยจิตมีชีวิตที่ดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย