ทำเนียบฯ 15 ต.ค.- รัฐบาลหนุนเอเอ็มอีไมโครเข้าแหล่งทุน กำหนดนิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ มุ่งใช้แนวทาง SME ประชารัฐ Rebootหวังช่วยเหลือส่งเสริมได้ตรงกลุ่ม หลังพบรายย่อยส่วนใหญ่ขอสินเชื่อขยายกิจการ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบรายงานว่า ภาพรวมการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบว่า ร้อยละ 86.9 เป็นไมโครเอสเอ็มอี ขณะที่ร้อยละ 11 เป็นเอเอ็มอีกลุ่ม S และร้อยละ 1.4 เป็นกลุ่ม M ขณะที่ร้อยละ 0.7 เป็นกลุ่ม L ซึ่งยอมรับว่าการออกนโยบายหรือมาตรการไม่ตรงจุดกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อ เพราะรายย่อยต้องการสูงมากทั้งในชุมุชนและเกษตรชุมชน รัฐบาลจึง มุ่งใช้แนวทาง SME ประชารัฐ เพื่อ Reboot SME ขับเคลื่อนผู้ประกอบการใหม่อีกก้าวหนึ่งในปี 62 ผ่านความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ทั้งภาครัฐ กระทรวงอุตฯ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. และเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และการที่กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีขาดความรู้ ความพร้อมในหลายด้าน ทั้งเอกสารขอสินเชื่อไม่พร้อม การรับข้อมูลไม่เพียงพอ แนวทางการช่วยเหลือจึงต้องออกมาให้ตรงจุด ตรงกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น จึงสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานที่ประชุมทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมมากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมกำหนดนิยามเอสเอ็มอีใหม่ โดยพิจารณาจากการจ้างงานและรายได้ จากเดิมใช้เรื่องทรัพย์สินด้วย เพราะคนรุ่นใหม่ เช่น สตาร์ทอัพมีทรัพย์สินน้อยในการเริ่มต้นประกอบกิจการ การกำหนดนิยาม มีดังนี้ “วิสาหกิจรายย่อย ภาคการผลิต และบริการ/การค้า” (ค้าส่ง-ค้าปลีก) ให้มีจำนวนแรงงานไม่เกิน 5 คน รายได้กิจการ ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท “นิยามวิสาหกิจขนาดขนาดย่อม ภาคการผลิต” แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนเอสเอ็มอี ภาคบริการ/การค้า แรงงานไม่เกิน 30 คน รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคผลิต แรงงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการ แรงงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท และภาคการค้า แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยให้ถือ จํานวนการจ้างงานหรือรายได้ที่มากกว่า เป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดกล่มเอสเอ็มอี
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า แนวทางการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี 2562 ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล จำนวน 1,234 ล้านบาท จัดทำขึ้นเพื่อผลักดันเอสเอ็มอีปรับตัวไปสู่โลกยุคดิจิตอล ทั้งด้านการผลิตและบริการ และยังช่วยเหลือ SME ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มีงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 110 ล้านบาท จากเดิมเห็นชอบระยะแรกไปแล้ว จำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 260 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย SMEs จำนวน 5,000 ราย โดยเพิ่มวงเงินการซื้อประกันความเสี่ยง FX Options จาก 30,000 บาทต่อราย เป็น 50,000 บาทต่อราย และเน้นเพิ่มการอบรมรูปแบบ Online (E-learning) ควบคู่ไปกับการบรรยายสด และการอบรมด้วย VDO รวมทั้งนำเสนอโปรโมชั่นสำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ในการลดค่าธรรมเนียมครึ่งราคาสำหรับประกันการส่งออก
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป จะขยายการดำเนินงานโครงการให้ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับ SMEs โดย Financial Literacy จะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเงิน จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน/สมาคม และสถาบันการเงินต่างๆ และบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินและองค์ความรู้ต่างๆ โดยการให้ความรู้ภายใต้โครงการฯ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านการเงินและภาษี และด้านการเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศ สำหรับโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไป จะเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ Financial Literacy นี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม