มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 9 ต.ค.- ผลสำรวจพบคนกรุงเกือบร้อยละ 80 เป็นหนี้ โดยเป็นหนี้เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัยมากสุด ขณะที่การกู้หนี้นอกระบบก็ยังไม่ลด เรียกร้องรัฐเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายทวงหนี้ให้เคร่งครัด และปรับลดดอกเบี้ยโครงการของรัฐให้ถูกกฎหมาย
มูลนิธิเพื่อผู้บรืโภค ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แถลงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,171 กลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 24 -28 สิงหาคม 2561 ซึ่งต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องหนี้สินครัวเรือน
ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า จากผลสำรวจ พบว่าคนกรุงร้อยละ 77.5 ของกลุ่มตัวอย่างมีหนี้สิน มากสุดเป็นหนี้สินที่เกี่ยวกับการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 37.6 รองลงมา เป็นการกู้ซื้อรถยนต์ร้อยละ 28.2 และเป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบจำนวน 18.8 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการซื้อบ้าน หรือที่พักอาศัยเป็นเหตุผลหรือความจำเป็นอันดับแรกที่ทำให้คนกรุงต้องเป็นหนี้
โดยในการกู้ยืมแหล่งเงินกู้อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 36.4 คือธนาคารพาณิชย์ รองลงมาร้อยละ 16.7 คือบริษัทไฟแนนซ์ลิสซิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการเป็นหนี้ คือต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ อย่างไรก็ตามร้อยละ 15.3 ยังใช้บริการของคนปล่อยกู้หรือหนี้นอกระบบอยู่เช่นเดิม
ส่วนตัวเลขหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินพบว่าร้อยละ 40 เป็นหนี้น้อยกว่า 100,000 บาท รองลงมาร้อยละ 30 เป็นหนี้ช่วง 1- 500,000 บาทและเป็นหนี้ 500,000 ถึง 1 ล้านบาทประมาณร้อยละ 17 และยังพบว่ากว่าร้อยละ 53 เคยผิดนัดผ่อนชำระหนี้ และที่เคยถูกทวงถามหนี้ โดยลักษณะการถูกทวงถามหนี้มากสุดร้อยละ 33 เป็นในลักษณะของจดหมายและไปรษณีย์เปิดผนึก รองลงมาเป็นการพูดจาไม่สุภาพและคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง และประมาณร้อยละ22 ของกลุ่มตัวอย่างคือเคยถูกดำเนินคดีฟ้องศาลและยึดทรัพย์
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากตัวเลขการเป็นหนี้ของคนกรุง ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนของการไปกูหนี้นอกระบบที่ยังคงไม่ลดลง แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น โครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง หรือสินเชื่อพิโก และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือนาโนไฟแนนซ์ แต่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึงร้อยละ 36 ต่อปีจึงไม่จูงใจให้มีการไปใช้บริการแทนการกู้ยืมนอกระบบ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ทั้งสองโครงการให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 เช่นเดียวกับสินเชื่ออื่นๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการ
ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช. ) กล่าว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2561 เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับการร้องเรียนเรื่องการเงินการธนาคารรวม 392 ราย มากสุดเป็นปัญหาเรื่องหนี้สินจำนวน 349 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากหนี้บัตรเครดิต 160 ราย หนี้จากการเช่าซื้อ 105 ราย หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล 80 ราย และหนี้นอกระบ 4 ราย
โดยปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการถูกติดตาม หรือทวงถามหนี้ ที่มีการข่มขู่คุกคาม รวมทั้งมีการคิดค่าติดตามและทวงหนี้ในอัตราสูงตั้งแต่หลักพันถึงหลายพันบาท โดยเฉพาะจากไฟแนนซ์ หรือลิสซิ่ง ที่มีการคิดราคาค่าติดตามราคาสูงมาก และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค และไม่ได้กำหนดอัตราที่ชัดเจน ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังคณะกรรมการการทวงถามหนี้ เพื่อให้ออกหรือกำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดอัตราค่าติดตามและทวงถามหนี้ให้ชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและ รู้สิทธิโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ได้ออกมามีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือค่าติดตามทวงหนี้ที่ชัดเจน.-สำนักข่าวไทย